วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อำนาจสีเทา

"อำนาจ" เป็นสิ่งที่ดูทรงพลัง ผมเคยคิดว่าสีของอำนาจน่าจะเป็นสีแดง
แต่ "อำนาจ" ก็ดูน่ากลัว น่าจะเป็นสีดำ หรืออาจจะดูน่าเลื่อมใสบริสุทธิ์เหมือน "สีขาว"

แต่หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลายปี ผมเริ่มมองว่าอำนาจมีสีเทา

สีเทาแทนความกำกวม และมีหลายคนที่นำเอาความกำกวมมาแปรเป็นอำนาจของตัวเอง แล้วเรียกมันเสียใหม่ว่า "วิจารณญาณ" ดังที่เราจะเห็นได้จากกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งมักจะเปิดช่องให้ผู้บริหารได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ได้เมื่อไม่มีระเบียบข้อใดระบุไว้ ยิ่งมีช่องว่างเปิดกว้างไว้เท่าไร อำนาจของผู้บริหารก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น อันที่จริงสีเทาควรจะเป็นสีของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านทำงานด้วยการตัดสินความกำกวมเพื่อชี้ถูกชี้ผิด

ลองนึกภาพผู้บริหารที่ชอบใช้พระเดชปกครองลูกน้อง มีลูกน้องกี่คนก็กดหัวเขาหมด ใช้แต่อำนาจสีดำ คนเหล่านี้ปกครองลูกน้องไม่ได้ อย่างมากก็สั่งให้ลูกน้องทำตามคำสั่งของเขาได้ แต่ให้ลูกน้องช่วยคิดช่วยพัฒนา ร่วมแรงร่วมใจไม่ได้ อำนาจสีดำจึงมีผลเพียงทำให้ลูกน้องกลัว

ผู้บริหารที่ใช้อำนาจสีขาว เน้นแต่ความเมตตากรุณาต่อลูกน้อง ให้อภัยลูกน้องเสมอ ลูกน้องรักและบูชา แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำงานให้ได้ดีเสมอไป เพราะการที่ลูกน้องมีความรักต่อเจ้านาย และได้รับความรักจากเจ้านายมาตลอด เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนางานของเขาอีกต่อไป เพราะจะทำหรือไม่ทำก็ได้รับผลตอบแทนจากเจ้านายเท่ากัน อำนาจสีขาวมีผลแค่ทำให้ลูกน้องรัก

ผมเชื่อว่า ผู้บริหารที่ใช้อำนาจสีเทาคือผู้บริหารที่มีอำนาจมากที่สุด เพราะเขาสามารถให้คุณให้โทษกับใครก็ได้ ไม่มีใครเป็นคนรัก ไม่มีใครเป็นคนชัง ทุกคนเป็นคนเท่า ๆ กัน มีโอกาสจะสร้างความผิด และความชอบเท่า ๆ กัน ใครทำดีก็ได้ความชอบ ทำผิดก็ถูกลงโทษ

ใคร ๆ ก็อยากเป็นเจ้านายสีเทาที่มีความยุติธรรมแก่ลูกน้อง แต่น่าเสียดายที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปไม่สามารถเป็นผู้นำด้วยอำนาจสีเทาอย่างสมบูรณ์ สีเทาอย่างสมบูรณ์หมายความว่า ถึงแม้จะส่องด้วยแว่นขยานอีกกี่เท่า ก็ยังเห็นเป็นสีเทา หลายคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำสีเทา เพราะว่าตัวเองมีทั้งให้คุณและให้โทษ โดยอาจลืมไปว่าลูกน้องแค่ละคนนั้นได้รับคุณและโทษไม่เท่ากัน บางคนเป็นคนโปรด ก็ได้รับคุณมาก คนชังก็ได้รับโทษมาก ผู้นำแบบนี้มองไกล ๆ เป็นสีเทา แต่พอมองใกล้ ๆ กลับเห็นเป็นจุดสีดำกับสีขาวสลับกัน หรือบางทีก็สลับด้วยเวลา หรือโอกาส เช่นอาจจะเป็นเจ้านายจอมโหดในวันทำงาน แต่เป็นเจ้านายผู้แสนใจดีในวันหยุด อาจจะเข้มงวดมากเรื่องการจ่ายค่าแรง แต่กลับใจดีมาก ๆ เรื่องสวัสดิการ บางเวลาเป็นสีดำ บางเวลาเป็นสีขาว เมื่อมองเฉลี่ย ๆ แล้วเป็นสีเทา

ดังนั้นผมจึงคิดว่าสีของอำนาจต้องเป็นสีเทา จึงจะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีได้ แต่การจะเป็นผู้นำสีเทาที่ดีได้นั้น จะต้องมีหลักการที่ดีอยู่ในใจ ถ้าใช้กฎหมายได้ ก็ให้ใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ก็ควรจะใช้จารีตประเพณี ถ้าจารีตประเพณีไม่มีระบุไว้ก็ควรจะใช้หลักศีลธรรม และถ้าเรื่องใดไม่มีหลักศีลธรรมกำหนดไว้จึงจะใช้ประชามติ ต่อเมื่อเรื่องใดไม่จำเป็นต้องขอประชามติ นั่นแหละ จึงจะเลือกตัดสินใจด้วยวิจารณญาณส่วนบุคคล

ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องในโลกนี้ที่ตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณส่วนบุคคล แต่มันคือเกณฑ์สุดท้ายที่ควรนำมาใช้ การนำวิจารณญาณส่วนตัวมาใช้บ่อย ๆ คือการแสดงสีเทาในใจตัวเองออกมา การใช้ครั้งแรก ๆ ทำให้เรารู้ว่าเรามีอำนาจ แต่เมื่อใช้บ่อย ๆ อำนาจมักจะไม่รักษาความเป็นสีเทาที่สมบูรณ์ได้ มันจะคอยผันตัวเองเป็นสีดำบ้าง สีขาวบ้าง หรือกลายเป็นม้าลายสีดำสลับขาวบ้าง

การกลับมาอยู่ตรงทางสายกลาง เป็นผู้นำสีเทา คือผู้นำในอุดมคติ คือผู้นำที่มีอำนาจที่แท้จริง

ผมขอจบบทความนี้ด้วยปรัชญาเต๋า ในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (เต๋าเต้อจิง) เกี่ยวกับอำนาจในการปกครอง ซึ่งท่านกล่าวไว้ลึกซึ้งมากกว่าความคิดของผมในวันนี้ ซึ่งผมจะต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะตีโจทย์แตก ตามโจทย์ของท่านเหลาจื้อ อำนาจที่แท้จริงควรจะไม่มีสีหรือมองไม่เห็น ไม่ใช่มีสีเทาอย่างที่ผมคิดในวันนี้

เหลาจื้อท่านกล่าวว่า
การปกครองที่แย่ที่สุด คือการปกครองที่ประชาชนเกลียดผู้ปกครอง
การปกครองที่แย่รองลงมา คือการปกครองที่ประชาชนกลัวผู้ปกครอง
การปกครองที่แย่รองลงมาอีก คือการปกครองที่ประชาชนรักผู้ปกครอง
แต่การปกครองที่ดีที่สุด คือการปกครองที่ประชาชนคิดว่าไม่มีการปกครองอยู่