วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2550

นาฏยศาลากับทิฟฟานีโชว์

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สูญเสียศิลปินแห่งชาติไปท่านหนึ่งคือ อ.สาคร ยังเขียวสด ผู้ก่อตั้ง โรงละครโจหลุยส์ เธียร์เตอร์ หรือ นาฏยศาลา ผมขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ ทั้งต่อครอบครัวของท่าน ต่อนาฏยศาลา และต่อวงการศิลปะไทย

ผมเคยชมการแสดงของนาฏยศาลา 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งมาแสดงนอกสถานที่ และอีกครั้งหนึ่งผมไปชมที่โรงละครที่ตั้งอยู่ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ผมขอบอกว่าประทับใจทั้ง 2 ครั้ง และรู้สึกทึ่งว่าเขาทำให้หุ่นมีชีวิตขนาดนั้นได้อย่างไร

เสียดายอยู่นิดเดียวว่า ตอนที่ผมไปชมที่นาฏยศาลานั้น มีคนเข้าชมแค่ประมาณ 10 คนเท่านั้นเอง แต่นักแสดง (ซึ่งมีมากกว่าคนดู) ก็ยังแสดงกันเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่ผมประเมินแล้วว่าการแสดงรอบนั้นน่าจะขาดทุน แต่ THE SHOW MUST GO ON.

ผมพาแขกชาวต่างชาติไปชมด้วยในวันนั้น เขาเป็นคนศรีลังกา ซึ่งมีพื้นฐานความรู้เรื่องรามายณะอยู่แล้ว จึงพอจะเข้าใจเรื่องได้ แต่ไม่อาจเข้าใจบทร้องที่เป็นภาษาไทยได้ ตรงนี้ผมรู้สึกเสียดายแทนเขามาก ๆ เลย เพราะการร้องก็เป็นศิลปะที่ลึกซึ้งอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่เขาจะรับทราบเรื่องราวผ่านท่าทางและ subtitle ภาษาอังกฤษที่ขึ้นอยู่จอข้าง ๆ

ผมแอบเห็นว่าเขาไม่ค่อยจะรู้สึกประทับใจสักเท่าไร หรือน่าจะเรียกว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงรสชาติที่แท้จริง แบบที่คนไทยเข้าถึงได้ จะถูกต้องกว่า

บังเอิญในการท่องเที่ยวคราวนั้น ไกด์จำเป็นอย่างผมก็ได้พาเขาไปดูทิฟฟานีโชว์ที่พัทยาด้วย ทีแรกผมคิดจะไปสยามนิรมิต แต่ค่าบัตรแพงมาก ตั้ง 1,500 บาท ผมเลยยอมเดินทางไกลไปถึงพัทยา พาไปชมเมืองจำลองกับพิพิธภัณฑ์ Ripley's Believe it or Not! ด้วย ปรากฏว่าเขาชอบทิฟฟานีโชว์ และประทับใจอย่างเห็นได้ชัด และผู้ชมก็มีมากมายหลายร้อยคน แตกต่างกับที่โรงละครโจหลุยส์อย่างสิ้นเชิง

เปรียบเทียบการแสดง 2 อย่างนี้แล้ว ถ้าใครถามผมว่าอันไหนดีกว่ากัน ผมว่าละครหุ่นเล็กของนาฏยศาลาเหนือกว่าเยอะในแง่ความเป็นศิลปะ ส่วนทิฟฟานีโชว์มีจุดเด่นแค่เรื่องเสื้อผ้า และเทคนิคฉากเท่านั้น แต่ทำไมทิฟฟานีโชว์จึงมีผู้ชมมากกว่า? เพราะเป็นศิลปะที่เข้าใจง่ายกว่า ไม่มีบทละคร มีแต่การแสดงประกอบเพลง ซึ่งเป็นเพลงต่างประเทศเกือบทั้งหมด เมื่อเข้าใจง่าย ก็เลยมีคนมาชมมาก ในแง่ธุรกิจจึงประสบคามสำเร็จมากกว่านาฏยศาลา แต่ผมไม่ทราบข้อมูลภายในหรอกนะว่าเขาแบ่งเปอร์เซนต์ให้บริษัททัวร์กันยังไง อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดึงลูกค้าได้มากขึ้นก็ได้

มันเป็นกฎของการทำธุรกิจเลยล่ะ ถ้าใครอยากจะประสบความสำเร็จต้องเขาให้ถึงลูกค้า และทำให้ลูกค้าเข้าใจคุณลักษณะของสินค้าที่แท้จริงด้วย ถ้าเขาซื้อของเราเพียงเพราะคนอื่นบอกว่าดี แต่เขาลองใช้แล้วไม่ประทับใจ เราก็จะขายให้เขาได้แค่ครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่สอง แต่ถ้าเราทำให้เขาประทับใจได้ตั้งแต่แรกพบ เราก็จะได้ค้าขายกันในระยะยาว

ผมอยากให้โรงละครของอ.สาครคงอยู่คู่แผ่นดินไทยไปอีกนานเท่านาน แต่โรงละครควรอยู่ด้วยเงินจากผู้ชม ไม่ใช่เงินสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม การจะทำให้โรงละครคงอยู่ต่อไป ต้องจัดการแสดงใหม่ ให้ผู้ชมต่างประเทศเข้าถึงได้ง่าย เช่นครั้งหนึ่งผมเคยเห็นเขาทำหุ่น Elvis Presley ออกมาเต้นในจังหวะ Rock 'n Roll สนุกมากเลย ผมว่าเป็นแนวทางที่ดี และน่าจะทำอีกหลาย ๆ หุ่น เพราะผมคิดว่าการเอาศิลปะไทยมาประยุกต์เข้ากับเนื้อเรื่องของต่างประเทศ ก็เป็นการ "ออกลวดลาย" ของศิลปะไทยอย่างหนึ่ง น่าจะทดลองเริ่มทำรอบ International Show สัปดาห์ละ 1 วันเรียกแขกต่างชาติไปดูหน่อย ถ้ามีลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น ก็ค่อยเพิ่มรอบเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน 3 วัน แต่ยังไงเสียผมต้องขอไว้ 2 วันในรอบสัปดาห์ให้คนไทยได้ชมศิลปะแบบดั้งเดิม เป็นละครเรื่องรามเกียรติ์ โดย 2 วันที่ขอไว้คือวันพฤหัสบดี เพราะเป็นวันครู และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันครอบครัว

นาฏยศาลามีจุดแข็งประการหนึ่งคือตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพ สามารถรองรับแขกต่างชาติที่ต้องการชมศิลปะไทย ๆ หลังอาหารเย็นได้สบาย ๆ แถมช่วงรอเวลายังสามารถช็อปปิ้งในสวนลุมไนท์บาซาร์ได้อีก เป็นที่ตั้งที่ดีมาก ๆ แต่ต้องจัดที่จอดรถไว้ให้รถทัวร์เข้าได้ด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: