หายใจเข้า...หายใจออก
เคยได้ยินมั้ยที่คนทั่วไปมักพูดว่า
"เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปฟอกเลือด และหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์"
ฟัง ๆ ดูเหมือนว่าร่างกายเราช่างมหัศจรรย์ สามารถเลือกที่จะหายใจเข้าเฉพาะออกซิเจน ทั้ง ๆ ที่อากาศเรามีออกซิเจนแค่ 21% เท่านั้น แล้วภายในเวลา 2-3 วินาทีเราก็สามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้ทั้งหมด แล้วก็หายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน ๆ ช่างเป็นเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบอะไรอย่างนี้
ทำไมไม่มีใครสงสัยว่า ไนโตรเจนตั้ง 78% หายไปไหน? ตอนที่หายใจเข้าไป เราสามารถใช้ออกซิเจนได้หมดจริงหรือ? เราหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน ๆ จริงหรือ? ไม่เหลือออกซิเจนซักนิดเลยหรือ?
ค้นคว้าอยู่พักหนึ่งแล้วผมก็พบว่า เราไม่ได้ "หายใจเอาออกซิเจนเข้าไป" แต่เราหายใจเอาอากาศเข้าไปเราไม่ได้ "หายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์" แต่เราหายใจออกมาเป็นอากาศที่มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนไนโตรเจน มีอยู่ทั้งในลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
มันก็เหมือนกับชีวิตเรานั่นแหละสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตมันมีทั้งเรื่องดี ๆ (ออกซิเจน) เรื่องร้าย ๆ (คาร์บอนไดออกไซด์) และเรื่องกลาง ๆ (ไนโตรเจน)ปนเปกํนเข้ามา เราไม่สามารถเลือกหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถเลือกให้สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรามีแต่เรื่องดี ๆ ได้ฉันนั้น
เรื่องดี ๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้ว บางอย่างก็ซึมซาบเข้ามาในชีวิตของเรา ช่วยทำให้เรามีชีวิต และมีชีวา
เรื่องดี ๆ บางเรื่องผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เราไม่มีเวลาพอที่จะดึงมันมาใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้ เป็นโอกาสดี ๆ ที่สูญเสียไปในชีวิตคนเรา เหมือนกับออกซิเจนที่อยู่ในลมหายใจออก
เรื่องกลาง ๆ ไม่ดีไม่ร้าย ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เหมือนไนโตรเจนซึ่งมันมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นส่วนใหญ่ซะด้วยสิ
เรื่องร้าย ๆ มันมีแค่นิดเดียวเอง (คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีแค่ 0.1% แต่ออกซิเจนมีมากถึง 21%) ตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ เราก็ต้องถ่ายเรื่องร้าย ๆ เหล่านี้ทิ้งไปจากชีวิตของเรา
มีคนเคยถามว่าถ้าเราหายใจเอาออกซเจนบริสุทธิ์เข้าไปแล้ว จะดีต่อร่างกายมั้ย คำตอบคือไม่ดี เราอาจตายได้ภายในเวลาไม่นาน เนื่องจากเกิดอาการ hyperventilation คือร่างกายไม่ยอมหายใจเพราะขาดคาร์บอนไดออกไซด์ หมายความว่าคาร์บอนไดออกไซด์นี่แหละคือสิ่งที่กระตุ้นให้เราหายใจ เมื่อขาดคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ไม่มีอะไรไปกระตุ้นร่างกายว่าต้องหายใจนะ ร่างกายก็หยุดหายใจ เกิดอาการเกร็งทั้งตัว และการผายปอดก็ไม่ช่วยอะไร เพราะผู้ป่วยจะต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่ออกซิเจน การปฐมพยาบาลจึงง่ายแสนง่าย ให้หายใจในถุง ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น แล้วผู้ป่วยจะกลับมาหายใจได้เอง
มันเหมือนกับชีวิตคนอีกนั่นแหละ มันต้องกระตุ้นด้วยเรื่องร้าย ๆ จึงจะทำให้ชีวิตนี้มีแรงสู้ต่อไป ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่า "ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นไป ชีวิตไม่ดิ้นก็สิ้นใจ" ถ้ามีแต่เรื่องดี ๆ เราก็จะเฉาตายเพราะขาดแรงกระตุ้น
คนที่อยู่ในที่อับอากาศแล้วตาย เขาไม่ได้ตายเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ตายเพราะคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ก๊าซนี้มีความน่ากลัวตรงที่มันมีมวลโมเลกุล 28 ใกล้เคียงกับอากาศ (มวลโมเลกุลเฉลี่ยประมาณ 29) มันจึงล่องลอยไปได้ทุกที่ที่มีอากาศ ไม่กองกับพื้นอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ (มวลโมเลกุล 44) ที่น่ากลัวกว่านั้นคือมันมีรูปร่างเป็น 2 อะตอมเหมือนออกซิเจน (O2) มันจึงสามารถจับกับฮ๊โมโกลบินได้อย่างแนบแน่น และแน่นกว่าออกซิเจน มันจึงจับแล้วไม่ปล่อย ทำให้ฮีโมโกลบินโมเลกุลนั้นหมดโอกาสที่จะจับกับออกซิเจนอีก เท่ากับว่าหมดอนาคตแล้วสำหรับฮ๊โมโกลบินโมเลกุลนั้น รอเวลาให้ร่างกายกำจัดเท่านั้น
ชีวิตคนเราก็เป็นอย่างนั้น เรื่องที่ร้ายที่สุด เจ็บที่สุด มักจะมาในรูปที่คล้ายคลึงกับข่าวดีมากที่สุด เรานึกว่าเป็นเรื่องดี ก็รับเข้ามา แต่พอเข้ามาแล้วจับกับเราแน่น ตราตรึงฝังใจของเรา แต่ทำให้เราหายใจไม่ได้ จะคายออกมันก็ไม่ยอมออก มันทำให้ฮีโมโกลบินดี ๆ ของเรากลายเป็น คาร์บอกซีฮีโมโกลบิน ที่มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทางเดียวที่จะแก้ปัญหามันได้ คือใช้ม้ามของเรานี่แหละ กำจัดเม็ดเลือดหมดอายุเม็ดนั้นทิ้งซะ แล้วเอาฮีโมโกลบินเหล่านั้นไปทิ้งทะเล (ทะเลคอห่าน)นั่นคือวิธีที่ดีที่สุด
ชีวิตยังไม่สิ้นก็ดิ้นไป
ชีวิตไม่ดิ้นก็สิ้นใจ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
9 ความคิดเห็น:
:)
เจอโดยบังเอิญ
ชอบที่คุณเขียนค่ะ
เหมือนความเห็นข้างบนเลยค่ะ บังเอิญเปิดมาเจอ และชอบบทความคุณมาก
ทำไมเเก๊สไนโตรเจนมีมากกว่าออกซิเจนในเมื่อเเก๊สออกซิเจนมีไว้หายใจ
เปรียบเปรยได้ดีเลยค่ะ
เข้าใจทั้งวิทย์และชีวิตพร้อมๆกัน
ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออกต่างกันอย่างไร
ร่างกายมีการนำก๊าซออกซิเจนไปใช้ในปริมาณเท่าใด ทราบได้อย่างไร
หายใจเข้า เอาลมเข้า หายใจออกเอาลมออก -_- 555555555555
ขอบคุณคะ
ทำไหมเเก๊สไนโตรเจนมีเปอร์เซ็นต์เท่ากัน?
แสดงความคิดเห็น