ผมจำได้คุ้น ๆ ว่าได้เรียนเรื่องสมการความสุขในวิชาสังคมศึกษา ม.4 และเป็นเรื่องที่ผมชอบ
สมการความสุขบอกว่า ความสุขเท่ากับสิ่งที่เรา"มี" หารด้วยสิ่งที่เรา "อยากมี"
เช่นเรา "อยากมี" ทรัพย์สิน 100 หน่วย แต่เรา "มี"ทรัพย์สินอยู่จริง 50 หน่วย เราก็มีความสุข 50%
แล้วทำยังไงถึงจะมีความสุขเต็มร้อยล่ะ มันมีอยู่ 2 ทาง
ทางแรกคือหาทรัพย์สินมาเพิ่มอีก 50 หน่วยกลายเป็น "มี" 100 หน่วย เราก็จะมีความสุขเต็มร้อย ถ้าหาได้มากกว่านี้ก็มีความสุขเต็มร้อย
ทางที่สองคือลดความ"อยากมี"ลงมา ถ้าลดได้เหลือ 75 หน่วย ความสุขก็จะเพิ่มเป็น 67% ถ้าลด "อยากมี" ได้เหลือ 50 หน่วย ความสุขก็จะเป็น 100% และถ้าลดลงไปอีกล่ะ?
ความสุขก็เกินร้อยน่ะสิ
สมการนี้จึงบอกกับเราว่า เราหาความสุขได้ 2 วิธี คือ "มี"ให้มากขึ้น หรือ "อยากมี"ให้น้อยลง
สมการนี้บอกด้วยว่าพระอรหันต์ ท่านมีความสุขเป็นอนันต์ เพราะความ "อยากมี"ของท่านเป็นศูนย์ เนื่องจากท่านละกิเลสสิ้นแล้ว จำนวนจริงหารด้วยศูนย์ก็ได้ค่าเป็นอนันต์
ผมกำลังสนใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงขอน้อมนำมาเชื่อมโยงกับสมการความสุขดังนี้
ในความเข้าใจของผม เมื่อเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้พูดถึงการทำธุรกิจแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจะได้ "มี" น้อย ๆ
หากแต่เราต้องใช้ปัญญาเข้าควบคุมจิตตัวเองให้ "อยากมี" น้อย ๆ ต่างหาก
ดังนั้น ถ้าเราจะดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงควรเน้นไปที่การควบคุมสิ่งที่ "อยากมี" คือการเขียนแผนธุรกิจที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง สมเหตุสมผลและมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่การควบคุมสิ่งที่ "มี" นั่นคือขนาดของธุรกิจ
ผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยด้วยนะครับ เพราะแม้จะได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเข้าใจมากขึ้นจากการบรรยายเรื่อง Branding ของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล (บริษัท ที่ปรึกษาแบรนด์บีอิ้ง จำกัด และผู้แต่งหนังสือ "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง") เมื่อ 3 วันที่แล้วนี่เอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น