หนังสือสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงเล่มสีเหลือง ผ่านตาผมไปเมื่อหลายเดือนก่อน ...แล้วก็ผ่านไป
ในวันนั้น ผมไม่คิดจะซื้ออ่านเพราะคิดว่าเป็นแค่หนังสือที่เขียนตามกระแส คือกระแสการสร้างแบรนด์ และกระแสของเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนหนังสืออีกหลาย ๆ เล่มในร้าน
จนกระทั่งวันที่ 10 ก.ค. 51 ที่งาน Industrial Mart ที่ผมได้ไปฟังสัมมนาของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล พอกลับมาพิษณุโลกผมรีบไปหาซื้อหนังสือเล่มนั้นทันที และเพิ่งอ่านจบไปไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง
การบรรยายของอาจารย์ศิริกุลได้ตอบปัญหาที่ผมคาใจอยู่ 2 ข้อคือ
1. ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำแค่พออยู่พอกิน แล้วจะแข่งขันในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างไร
2. ทำไมต้องสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง
เริ่มจากหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่มักน้อย ไม่ใช่สันโดษ ไม่ใช่ประหยัด ไม่ใช่จำกัดการเติบโต
แต่หลักการคือการสร้างภูมิคุ้มกันของธุรกิจตัวเองด้วยการทำพอเพียงแก่ตัวเอง และพอเพียงแก่เหตุผล โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือความรู้และคุณธรรม
ด้วยวิธีการนี้ ธุรกิจของเราจึงจะอยู่รอดในระบบทุนนิยมได้อย่างยั่งยืน - นี่คือคำตอบของปัญหาข้อที่ 1
อาจารย์ศิริกุลใช้แบรนด์เป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น - นี่คือคำตอบของปัญหาที่ 2
ผมไม่รู้ว่าอาจารย์ศิริกุลคิดเรื่องนี่ขึ้นมาได้ยังไง แต่ผมรู้สึกได้ถึง "ปิ๊ง" ของอาจารย์ในวินาทีที่จับ 2 กระแสมารวมกันได้ เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการใช้ปรัชญาเศรษฐิจพอเพียงเพื่อสร้างแบรนด์ (อย่างมีทิศทาง) และใช้แบรนด์นั้นกลับมาสร้างเศรษฐกิจที่พอเพียง (ยั่งยืน)
ประโยคสั้น ๆ ที่อธิบายคำว่า "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง" คือคำว่า THE POWER TO SAY 'NO' หมายถึงว่าเมื่อเรามีทิศทางการสร้างแบรนด์ที่มั่นคงแล้ว เราจะพร้อมปฏิเสธอะไรบางอย่างได้ บนเหตุผลของความพอเพียงของตัวเราเอง เช่นเราจะไม่ลงไปต่อสู้ในสงครามราคา เพราะเรารู้ว่าสินค้าเราเป็น premium product หรือสินค้าเรามีความแตกต่างกับสินค้าคนอื่นอยู่แล้ว, เราไม่รู้สึกตาลุกโชนเวลามีคนมาขอซื้อสินค้า big lot เพราะสินค้าเราเป็นสินค้า handmade ที่เน้นความประณีต เป็นต้น
หลักการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงของอาจารย์ศิริกุลมี 3 ห่วงคล้องกัน
1. ความรู้จักตนเอง และทำอย่างประมาณตน (อย่าทำเกินตน จะไม่ยั่งยืน)
2. ความมีเหตุมีผล
3. ภูมิคุ้มกัน - จากพนักงาน, ลูกค้า และคู่ค้า
ภายในกรอบของ 3 เงื่อนไขคือ
1. เงื่อนไขขององค์กร - เราเป็นใคร ภาพของแบรนด์เราคืออะไร (อย่าไปขี้ตามช้าง ถ้าเราไม่ใช่ช้าง)
2. เงื่อนไขความรู้
3. เงื่อนไขคุณธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อจะบรรลุถึง sustainable brand ในที่สุด
ผมคิดว่าศิลปะของการจัดการอยู่ที่การรู้จักตนเอง เพราะพวกเรามักจะหลงกันบ่อย ๆ เช่นเมื่อทุกคนพากันพูดเรื่อง ISO9000 ถ้าไม่ทำ ISO9000 ก็จะมีแต่คนมาถามเราว่าทำไมไม่ทำ แล้วเราก็ทำตามเขา โดยไม่รู้ว่ามันเหมาะกับองค์การเราหรือไม่ พอได้ ISO9000 มาแล้วก็สงสัยว่านอกจากเอกสารที่เพิ่มขึ้น, บุคลากรที่ต้องจ้างเพิ่มขึ้นแล้ว เราได้อะไรบ้างจากระบบ ISO9000 ทำไมปัญหายังเกิดขึ้นเหมือนเดิม
หลายองค์กรลืมที่จะใส่ความเป็นตัวเองลงไปในวิสัยทัศน์ ชอบเขียนตามแฟชั่น พอเริ่มทำงานก็สะดุดขาตัวเอง เพราะจะก้าวเท้าซ้ายตามนิสัยตัวเองก็ผิดวิสัยทัศน์ พอจะก้าวเท้าขวาตามวิสัยทัศน์ก็รู้สึกฝืนใจตัวเอง ทำไมเราถึงต้องอายที่จะเขียนวิสัยทัศน์ในแบบที่เราคิดและเป็นจริง ๆ ล่ะครับ?
วันนี้ ผมเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากขึ้น ด้วยความเมตตาของอาจารย์ศิริกุล ขอบคุณครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น