วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ศาสนาประจำชาติ

พักนี้มีคนพูดถึงการบรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ลงในรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายที่เห็นด้วยบอกว่าความจริงมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราก็แค่เขียนให้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อตอกย้ำให้ชัด ๆ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่าก็เมื่อความจริงมันเป็นอยู่อย่างนั้น จะเขียนหรือไม่เขียนก็ไม่ต่างกัน แต่การเขียนจะทำให้เกิดความแตกแยกกันเปล่า ๆ

ผมอยู่ฝ่ายหลัง และผมอยากจะให้มีอาจารย์รับศาสตร์สักคนอกมาวิเคราะห์ให้พวกเราฟังว่า ประเทศอื่นที่เขาประกาศศาสนาประจำชาติอย่างชัดเจนในรับธรรมนูญนั้น มันทำให้เกิดผลทางรูปธรรมอย่างไรบ้าง เช่น สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน หรืออิหร่าน พอเขาบัญญัติแล้ว จะมีผลทางกฎหมายลูกที่จะออกตามมาหรือเปล่า ผมอยากให้ทุกคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตอนยังไม่เกิดปัญหา ก็อ่านกันผ่าน ๆ ไป พอเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ก็กลับไปเค้นกันทีละคำพูด เอาแว่นขยายมาส่องดูว่ามีเว้นวรรคหรือเปล่า ใช้คำว่าและ หรือคำว่าหรือ จนท่าน สสร. ทั้งหลายต้องออกมาบอกว่าเจตนารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วก็จบที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน กว่าจะจบแต่ละคดีต้องทะเลาะกันวุ่นวาย

เพราะฉะนั้นอย่าตอบกันตามความรู้สึก

ต้องตอบโดยหลักการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

ผมชอบคำพูดเดิมคือ "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงนับถือศาสนาพุทธ และเมื่อทรงนับถือศาสนาพุทธแล้ว ก็เป็นหลักประกันว่าราชอาณาจักรแห่งนี้จะไม่ต่อต้านศาสนาอื่นๆ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เรามีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็เป็นหลักประกันเช่นกันว่าศาสนาพุทธจะไม่เลือนหายไปเช่นกัน ผมคิดว่าลงตัวที่สุดแล้วนะ ไม่ควรไปเขียนว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

สิ่งที่ผมกลัวคือ ผมไม่รู้ว่าคนที่กำลังเสนอเรื่องนี้เขาคิดอะไรอยู่ ตอนนี้ขอบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อนาคตอาจจะบอกว่าประเทศไทยต้องไม่มีเหล้า ไม่มีรูปโป๊ ไม่มีสถานบริการ ห้ามใส้เสื้อผ้าแฟชั่นที่ "ส่อ" ฯลฯ และกฎหมายทุกฉบับต้องสอดคล้องกับศีล 5 เพราะทั้งหมดที่กล่าวมา ขัดกับหลักของศาสนาประจำชาติ สิ่งเหล่านี้ ผมไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ลองนึกภาพสิ ถ้าเราไปอยู่ในอิหร่าน แล้วเขาให้เราท่องวันละ 5 เวลาว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ เราจะชอบหรือเปล่า ไทยมุสลิม 5 จังหวัดภาคใต้เขาจะรู้สึกอย่างไรที่พบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนไทยอย่างงั้นหรือ

พวกเรารวมกันอยู่ในประเทศไทยด้วยความหลากหลาย จึงอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเราทุกคนเหมือนกัน เราก็ไม่ใช่สังคม เป็นแค่กลุ่มของ Homo sapiens เท่านั้น