วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สามัคคีเหมือน (x+y)^2

เรื่องนี้คิดเอาไว้สิบกว่าปีแล้ว เห็นว่าน่าบันทึกเก็บไว้ จึงเอามาเขียนใน blog

ทุกคนก็รู้นะครับว่า (x+y)^2 = x^2 + 2xy + y^2

แต่ผมมองสูตรนี้ว่าเป็น synergy ที่เกิดจากความสามัคคี รวมพลังกัน

x ก็คือคนที่ 1, y ก็คือคนที่ 2

ถ้า x ทำงานคนเดียวก็ได้ x^2
ส่วน y ทำงานคนเดียวก็ได้ y^2
เมื่อนำงานของ 2 คนมารวมกันก็จะได้ผลลัพธ์เป็น x^2+y^2
แต่ถ้านำคน 2 คนมารวมทีมกันเพื่อทำงาน จะได้ผลงานเพิ่มขึ้นมาอีก 2xy

ถ้ามี z มาร่วมทีมด้วย จะได้ผลงานเพิ่มเท่ากับ 2xy + 2yz + 2zx
ถ้างานนั้นเป็นงานที่อาศัยการร่วมแรงร่วมใจมาก มันก็เป็นงานที่มีดีกรีมาก เป็นยกกำลัง 3 ยกกำลัง 4 ขึ้นไป

ผลงานที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมทีมก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก
เช่น (x+y)^3 = x^3 + y^3 + 3x^2y + 3xy^2
(x+y)^4 = x^4 + y^4 + 4x^3y + 6x^2y^2 + 4xy^3
...
ดังนั้นการรวมกันจะมีประโยชน์เพิ่มพูนแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มาร่วมทีม และดีกรีของการร่วมกัน เช่น ร่วมมือ ร่วมหัว ร่วมใจ ฯลฯ

สมการนี้ช่วยเตือนเราว่า การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่จะต้องบริหารทีมให้เป็นด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง - ศิริกุล เลากัยกุล

หนังสือสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงเล่มสีเหลือง ผ่านตาผมไปเมื่อหลายเดือนก่อน ...แล้วก็ผ่านไป
ในวันนั้น ผมไม่คิดจะซื้ออ่านเพราะคิดว่าเป็นแค่หนังสือที่เขียนตามกระแส คือกระแสการสร้างแบรนด์ และกระแสของเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนหนังสืออีกหลาย ๆ เล่มในร้าน

จนกระทั่งวันที่ 10 ก.ค. 51 ที่งาน Industrial Mart ที่ผมได้ไปฟังสัมมนาของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล พอกลับมาพิษณุโลกผมรีบไปหาซื้อหนังสือเล่มนั้นทันที และเพิ่งอ่านจบไปไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง

การบรรยายของอาจารย์ศิริกุลได้ตอบปัญหาที่ผมคาใจอยู่ 2 ข้อคือ

1. ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำแค่พออยู่พอกิน แล้วจะแข่งขันในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างไร
2. ทำไมต้องสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง

เริ่มจากหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่มักน้อย ไม่ใช่สันโดษ ไม่ใช่ประหยัด ไม่ใช่จำกัดการเติบโต

แต่หลักการคือการสร้างภูมิคุ้มกันของธุรกิจตัวเองด้วยการทำพอเพียงแก่ตัวเอง และพอเพียงแก่เหตุผล โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือความรู้และคุณธรรม

ด้วยวิธีการนี้ ธุรกิจของเราจึงจะอยู่รอดในระบบทุนนิยมได้อย่างยั่งยืน - นี่คือคำตอบของปัญหาข้อที่ 1

อาจารย์ศิริกุลใช้แบรนด์เป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น - นี่คือคำตอบของปัญหาที่ 2

ผมไม่รู้ว่าอาจารย์ศิริกุลคิดเรื่องนี่ขึ้นมาได้ยังไง แต่ผมรู้สึกได้ถึง "ปิ๊ง" ของอาจารย์ในวินาทีที่จับ 2 กระแสมารวมกันได้ เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการใช้ปรัชญาเศรษฐิจพอเพียงเพื่อสร้างแบรนด์ (อย่างมีทิศทาง) และใช้แบรนด์นั้นกลับมาสร้างเศรษฐกิจที่พอเพียง (ยั่งยืน)

ประโยคสั้น ๆ ที่อธิบายคำว่า "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง" คือคำว่า THE POWER TO SAY 'NO' หมายถึงว่าเมื่อเรามีทิศทางการสร้างแบรนด์ที่มั่นคงแล้ว เราจะพร้อมปฏิเสธอะไรบางอย่างได้ บนเหตุผลของความพอเพียงของตัวเราเอง เช่นเราจะไม่ลงไปต่อสู้ในสงครามราคา เพราะเรารู้ว่าสินค้าเราเป็น premium product หรือสินค้าเรามีความแตกต่างกับสินค้าคนอื่นอยู่แล้ว, เราไม่รู้สึกตาลุกโชนเวลามีคนมาขอซื้อสินค้า big lot เพราะสินค้าเราเป็นสินค้า handmade ที่เน้นความประณีต เป็นต้น

หลักการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงของอาจารย์ศิริกุลมี 3 ห่วงคล้องกัน
1. ความรู้จักตนเอง และทำอย่างประมาณตน (อย่าทำเกินตน จะไม่ยั่งยืน)
2. ความมีเหตุมีผล
3. ภูมิคุ้มกัน - จากพนักงาน, ลูกค้า และคู่ค้า
ภายในกรอบของ 3 เงื่อนไขคือ
1. เงื่อนไขขององค์กร - เราเป็นใคร ภาพของแบรนด์เราคืออะไร (อย่าไปขี้ตามช้าง ถ้าเราไม่ใช่ช้าง)
2. เงื่อนไขความรู้
3. เงื่อนไขคุณธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อจะบรรลุถึง sustainable brand ในที่สุด

ผมคิดว่าศิลปะของการจัดการอยู่ที่การรู้จักตนเอง เพราะพวกเรามักจะหลงกันบ่อย ๆ เช่นเมื่อทุกคนพากันพูดเรื่อง ISO9000 ถ้าไม่ทำ ISO9000 ก็จะมีแต่คนมาถามเราว่าทำไมไม่ทำ แล้วเราก็ทำตามเขา โดยไม่รู้ว่ามันเหมาะกับองค์การเราหรือไม่ พอได้ ISO9000 มาแล้วก็สงสัยว่านอกจากเอกสารที่เพิ่มขึ้น, บุคลากรที่ต้องจ้างเพิ่มขึ้นแล้ว เราได้อะไรบ้างจากระบบ ISO9000 ทำไมปัญหายังเกิดขึ้นเหมือนเดิม

หลายองค์กรลืมที่จะใส่ความเป็นตัวเองลงไปในวิสัยทัศน์ ชอบเขียนตามแฟชั่น พอเริ่มทำงานก็สะดุดขาตัวเอง เพราะจะก้าวเท้าซ้ายตามนิสัยตัวเองก็ผิดวิสัยทัศน์ พอจะก้าวเท้าขวาตามวิสัยทัศน์ก็รู้สึกฝืนใจตัวเอง ทำไมเราถึงต้องอายที่จะเขียนวิสัยทัศน์ในแบบที่เราคิดและเป็นจริง ๆ ล่ะครับ?

วันนี้ ผมเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากขึ้น ด้วยความเมตตาของอาจารย์ศิริกุล ขอบคุณครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

1+1 =?

"หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับเท่าไร"

ผมได้รับโจทย์ข้อนี้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในการสัมมนาเรื่องบัณฑิตอุดมคติไทย ที่เชียงใหม่ มีอาจารย์จากหลายสถาบันเข้าสัมมนาร่วมกัน อาจารย์ที่เป็นวิทยากร (ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ, รศ.นพ.ไพโรจน์ วิทูรพาณิชย์ และคณะ) ท่านถามเราว่า 1+1 ได้เท่าไร ได้ 2, ได้มากกว่า 2, ได้น้อยกว่า 2, ได้ 1.5,ได้ 1, ได้ 0 หรือได้อนันต์ เพราะอะไร ให้พวกเราลองหาเหตุผลดูว่าบวกอย่างไรบ้างจึงจะได้คำตอบที่แตกต่างกันข้างต้น จากนั้นอาจารย์ก็ปล่อยให้พวกเราไปพัก แล้วให้กลับมานำเสนอหลังจากเบรก

อาจารย์ทุกท่านที่เข้าสัมมนาเลยไม่ค่อยเป็นอันกินกาแฟ เพราะต้องใช้ความคิดตีโจทย์ให้แตก ผมเองก็เช่นกัน ด้วยความบังเอิญ บวกกับบรรยากาศการสัมมนาแบบนักปรัชญา อารมณ์กวีของผมก็เลยผุดออกมาเป็นกลอน

หนึ่งบวกหนึ่งนี้หนอรอคำตอบ
คณิตชอบเป็นสองต้องวิถี
มากกว่าสองด้วยรู้รักสามัคคี
มักตระหนี่น้อยกว่าสองผิดคลองธรรม์

ไม่รวมมือได้หนึ่งเท่าตัวเก่า
รวมหัวเข้าหนึ่งจุดห้าน่าสร้างสรรค์
ถ้ารวมใจได้ผลลัพธ์นับอนันต์
สงบพลันคือศูนย์และปล่อยวาง

กลอนนี้อาจผิดเพี้ยนจากวันนั้นไปบ้าง เพราะเวลาก็ผ่านมานานแล้ว ที่จดไว้ก็หายแล้ว เลยต้องเขียนจากความจำ แต่น่าจะผิดเพี้ยนไม่เกิน 5 คำ

ในบทที่ 2 วรรคที่ 2 ตอนแรกผมแต่งว่า "รวมกันเข้าหนึ่งจุดห้านั้นน่าขัน" เพราะผมไม่รู้ว่าจะบวกยังไงถึงจะได้ 1.5 แต่ ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ วิทยากรในการสัมมนาครั้งนั้น ได้กรุณาชี้แจงว่าที่ท่านตั้งโจทย์ 1+1=1.5 นั้นมาจากแนวคิดของ Einstein ซึ่งเป็นคำอธิบายของทฤษฎีสัมพัทธภาพ คือนิวเคลียสของธาตุหนึ่ง รวมกับนิวเคลียสของอีกธาตุหนึ่งด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน แล้วได้นิวเคลียสของธาตุใหม่ที่หนักกว่าเดิม (คือ 1.5) และมวลที่หายไปกลายเป็นพลังงาน ตามสมการ E=mc^2 ดังนั้น ท่าน ศ.มณีวรรณ จึงบอกกว่า 1.5 นั้นไม่น่าขัน ผมจึงขออนุญาตแก้กลอนของผมเป็น "น่าสร้างสรรค์"

ส่วนบทที่ 2 วรรคที่ 1 มีคำว่า "ตัวเก่า" ซึ่งเป็นคำเมือง (ภาษาพื้นเมืองล้านนา) แปลว่าตัวเอง ตรงนี้ขออธิบายไว้เผื่อท่านผู้อ่านบางท่านไม่ทราบ

แต่วรรคที่ผมชอบที่สุดคือวรรคสุดท้าย ทีแรกผมตีโจทย์ 1+1=0 ว่ามันคือการสูญเสีย เสียเปล่า ไร้ประโยชน์ แต่เมื่อลองมองกลับกัน มองถึงความสมบูรณ์แบบของเลขศูนย์ มันกลับกลายเป็นความว่าง ความหลุดพ้น ผมจึงหักมุมจบกลอนในแบบที่ตัวเองชอบอย่างที่ปรากฏนั่นแหละครับ

ผมทึกทักเอาเองว่าเสียงปรบมือที่ผมได้รับในวันนั้น เป็นคำชมเชยให้กับวรรคสุดท้ายมากกว่าวรรคอื่น ๆ ผมว่ามันสวยงามนะ

จะว่าไปแล้ว หลังจากกลอนบทนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้แต่งกลอนอีกเลย ว่าง ๆ ต้องรื้อฟื้นฝีมือเสียบ้าง

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สมการความสุข

ผมจำได้คุ้น ๆ ว่าได้เรียนเรื่องสมการความสุขในวิชาสังคมศึกษา ม.4 และเป็นเรื่องที่ผมชอบ

สมการความสุขบอกว่า ความสุขเท่ากับสิ่งที่เรา"มี" หารด้วยสิ่งที่เรา "อยากมี"

เช่นเรา "อยากมี" ทรัพย์สิน 100 หน่วย แต่เรา "มี"ทรัพย์สินอยู่จริง 50 หน่วย เราก็มีความสุข 50%

แล้วทำยังไงถึงจะมีความสุขเต็มร้อยล่ะ มันมีอยู่ 2 ทาง

ทางแรกคือหาทรัพย์สินมาเพิ่มอีก 50 หน่วยกลายเป็น "มี" 100 หน่วย เราก็จะมีความสุขเต็มร้อย ถ้าหาได้มากกว่านี้ก็มีความสุขเต็มร้อย

ทางที่สองคือลดความ"อยากมี"ลงมา ถ้าลดได้เหลือ 75 หน่วย ความสุขก็จะเพิ่มเป็น 67% ถ้าลด "อยากมี" ได้เหลือ 50 หน่วย ความสุขก็จะเป็น 100% และถ้าลดลงไปอีกล่ะ?

ความสุขก็เกินร้อยน่ะสิ

สมการนี้จึงบอกกับเราว่า เราหาความสุขได้ 2 วิธี คือ "มี"ให้มากขึ้น หรือ "อยากมี"ให้น้อยลง

สมการนี้บอกด้วยว่าพระอรหันต์ ท่านมีความสุขเป็นอนันต์ เพราะความ "อยากมี"ของท่านเป็นศูนย์ เนื่องจากท่านละกิเลสสิ้นแล้ว จำนวนจริงหารด้วยศูนย์ก็ได้ค่าเป็นอนันต์

ผมกำลังสนใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงขอน้อมนำมาเชื่อมโยงกับสมการความสุขดังนี้

ในความเข้าใจของผม เมื่อเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้พูดถึงการทำธุรกิจแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจะได้ "มี" น้อย ๆ
หากแต่เราต้องใช้ปัญญาเข้าควบคุมจิตตัวเองให้ "อยากมี" น้อย ๆ ต่างหาก

ดังนั้น ถ้าเราจะดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงควรเน้นไปที่การควบคุมสิ่งที่ "อยากมี" คือการเขียนแผนธุรกิจที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง สมเหตุสมผลและมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่การควบคุมสิ่งที่ "มี" นั่นคือขนาดของธุรกิจ

ผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยด้วยนะครับ เพราะแม้จะได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเข้าใจมากขึ้นจากการบรรยายเรื่อง Branding ของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล (บริษัท ที่ปรึกษาแบรนด์บีอิ้ง จำกัด และผู้แต่งหนังสือ "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง") เมื่อ 3 วันที่แล้วนี่เอง

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

1% ที่คุณเลือกได้

ในห้องเรียนแคลคูลัสวันหนึ่ง ผมเขียนโจทย์บนกระดานให้นักเรียนดู
บรรทัดแรกถามว่า ลิมิตของ 0.99 ยกกำลัง n เมื่อ n เข้าใกล้ infinity เท่ากับเท่าไร
บรรทัดที่ 2 ถามว่า ลิมิตของ 1.01 ยกกำลัง n เมื่อ n เข้าใกล้ infinity เท่ากับเท่าไร
ทุกคนตอบถูกว่า บรรทัดแรกเท่ากับศูนย์ ส่วนบรรทัดที่สองเท่ากับ infinity

ความน่าสนใจของโจทย์ข้อนี้คือ 0.99 กับ 1.01 มันแตกต่างกันแค่ 2% แต่ให้คำตอบที่ต่างกันสุดขั้ว
เหมือนกับชีวิตของเราเลยครับ ถ้าเราทำดีได้แค่ 99% ของเมื่อวานนี้ เมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปี ความดีเราก็เป็นศูนย์
แต่ถ้าเราทำดีได้ 101% คือทำดีกว่าเมื่อวานนี้แค่นิดเดียว สุดท้ายความดีเราก็เป็นอนันต์

มันเป็น 1% ที่เราเลือกได้ว่าจะทำทางไหน ระหว่างดีกว่าเดิม 1% หรือ ด้อยกว่าเดิม 1%
ชีวิตเรา เราเลือกเอง