วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

คณิตศาสตร์เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์

ขอสะกิดมุมเล็ก ๆ ในความคิดของผม

สมัยมัธยมปลายผมคิดว่าวิทยาศาสตร์แยกเป็น 3 สาขาที่เด่นชัด คือฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา

เป็น 3 ทางที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน

แต่ยิ่งเรียนสูงขึ้น ผมก็ยิ่งเห็นความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เริ่มได้ยินคำว่า phyical chemistry, biochemistry

ประมาณปี 2543 ได้รู้จักศาสตร์ใหม่คือ molecular biology และได้เรียนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในเวลาต่อมา

molecular biology ทำให้ผมเริ่มมองเห็นว่าปรากฏการณ์ทางชีววิทยาหลาย ๆ อย่าง สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากโมเลกุลของสารใด ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลใด

โรค thalassemia เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก

โรคนี้ได้ชื่อมาจากรากศัพท์กรีกว่า thalassa ซึ่งแปลว่าทะเล เพราะเป็นโรคโลหิตจางที่พบมากแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน ความรู้ในระยะแรก ยังเป็นเพียงความรู้ระดับชีววิทยา คือจำแนกโรคได้ บอกอาการของโรคได้ วินิจฉัยได้ รักษาตามอาการได้ระดับหนึ่ง และระบุได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม

ต่อมาเราก็รู้ว่าโรคนี้ต่างกับโลหิตจางชนิดอื่น ๆ (เช่นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, จากพยาธิปากขอ) ตรงที่มันมีความผิดปกติที่โมเลกุของฮีโมโกลบิน ตรงนี้เป็นความรู้แบบ biochemistry

ต่อมาเราก็เจาะลึกต่อไปอีกว่าฮีโมโกลบินโดยปกติประกอบด้วยโปรตีน 4 ก้อน มาประกอบกันเป็นลูกบอลกลม เรียกว่าเป็นโครงสร้างระดับจตุตถภูมิ (quaternary structure) วิธีการบิดตัวของโปรตีนแต่ละก้อนจัดเป็นโครงสร้างระดับตติยภูมิ (tertiary structure) ลึกลงไปอีก ในโครงสร้างย่อย ๆ เหล่านั้นบางท่อนมีโครงสร้างแบบเกลียว (alpha-helix) อันนี้เป็นระดับทุติยภูมิ (secondary structure) และย่อยจนถึงลำดับกรดอะมิโนทั้งหมดคือระดับปฐมภูมิ (primary structure) การศึกษาถึงขั้นนี้เป็นระดับ molecular biology แล้ว

เมื่อทำการศึกษายีนของฮีโมโกลบิน และศึกษาถึงการกลายพันธุ์ของมันจนทำให้คนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย จึงเป็นการศึกษาในวิชา molecular genetics

แต่โปรตีนที่ผิดปกติ ทำให้หน้าที่ของฮีโมโกลบินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราต้องศึกษาในระดับ physical chemistry คือศึกษาไปถึงว่าโมเลกุลของ heme ซึ่งเป็นสารประกอบเล็ก ๆ อันหนึ่งที่อยู่ภายในอ้อมกอดของโปรตีน 4 หน่วยย่อยของฮีโมโกลบิน โดย heme จะมีอะตอมของเหล็กเอาไว้ยึดเหนี่ยวออกซิเจนอีกที กลายเป็นที่มาว่าฮีโมโกลบินนำพาออกซิเจนไปได้อย่างไร และเมื่อเกิดโรคธาลัสซีเมียขึ้นมาทำให้หน้าที่ในการนำพาออกซิเจนเปลี่ยนไปอย่างไร หรือทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นลงได้อย่างไร

ลึกลงไปมากกว่า physical chemistry เราอาจจะไปเพ่งมองพันธะใดพันธะหนึ่ง คำนวณแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม แปลออกมาเป็นความน่าจะเป็นที่ออกซิเจนจะถูกตรึงอยู่กับโมเลกุลของฮีโมโกลบิน กลายเป็น atomic physics และอนาคตอาจจะไปถึงระดับ quantum physics ก็ได้

และที่ขาดไม่ได้คือคณิตศาสตร์ที่จะใช้คำนวณแรงและความน่าจะเป็น

ดังนั้นจากสมการคณิตศาสตร์ เราค่อย ๆ ถอยกลับออกมาที่ quantum physics, atomic physics, physical chemistry, molecular genetics, molecular biology, biochemistry และ biology จากสิ่งไม่มีชีวิตคืออะตอม กลับขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตคือร่างกายมนุษย์

ดังนั้น ร่างกายมนุษย์จึงมีสมการคณิตศาสตร์นับล้านไหลอยู่ในกระแสเลือด แทรกในทุกเนื้อเยื่อ ทุกอวัยวะ

นอกจากนี้ จากการสังเกตพบว่าโรคนี้เกิดขึ้นในแถบที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อกันว่าเป็นวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เนื่องจากเชื้อมาลาเรียมันเป็นปรสิตที่ฝังตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง ร่างกายจึงไม่สามารถกำจัดได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกัน จึงต้องกำจัดเชื้อเหล่านี้ด้วยการฆ่าตัวเอง คือทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นลง วิธีการหนึ่งที่ร่างกายเลือกใช้คือการกลายพันธุ์ยีนฮีโมโกลบิน ซึ่งน่าจะมีหลายพันวิธี แต่วิธีที่ทำให้ผู้กลายพันธุ์เหล่านั้นอยู่รอดเหลือแค่ไม่กี่ร้อยวิธี ก็คือ Type ต่าง ๆ ของโรคธาลัสซีเมียนั่นเอง โรคธาลัสซีเมียจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราใช้คณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Genetic Algorithm (ซึ่งเป็นศาสตร์ที่สร้างมาจากการกลายพันธุ์ของยีน) ผนวกกับความรู้วิชาวิศวกรรมโปรตีน (protein engineering) ในการทำนายโครงสร้างและการทำงานของฮีโมโกลบิน เราอาจจะเห็นแนวโน้มของวิวัฒนาการมนุษย์ในอีก 1 ล้านปีข้างหน้าก็ได้

คณิตศาสตร์จึงใช้อธิบายปรากฏการณ์อะไร ๆ อีกมากมายในระดับใหญ่กว่าตัวเรา ใหญ่กว่าสังคม ใหญ่กว่าโลก ใหญ่ไปจนถึงระดับเอกภพ

ผมจึงพูดว่าคณิตศาสตร์เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Forest Model กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ผมขอออกตัวก่อนว่าเรื่อง Forest Model นี้ไม่ใช่ความคิดของผมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการนำความคิดของผู้อื่นมาต่อยอดเท่านั้น


ผมอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง (น่าเสียดายที่จำชื่อหนังสือไม่ได้) บอกว่าการทำงานในองค์กรก็เหมือนกับต้นไม้ เรามีงานส่วนหนึ่งที่เป็นของเราเองไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ หนึ่งต้นก็มีหนึ่งลำต้น ของใครของมันไม่เกี่ยวกัน


กับงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งเราต้องประสานงานกับบุคคลอื่นโดยโครงสร้างองค์กร เปรียบเสมือนกิ่งก้านของต้นไม้ ซึ่งยื่นออกไปสอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียงกัน


ผมไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนั้น แต่ผมหยิบไอเดียนั้นมาคิดเทียบกับการทำงานจริง แล้วผมก็พบว่ามันอธิบายอะไรหลายอย่างได้ดีทีเดียว


คนบางคนที่ทำงานแบบต้นสัก คือสูงชลูด กิ่งก้านน้อย ไม่ค่อยสอดประสานกับคนอื่น ได้เนื้อไม้ชั้นดี หมกมุ่นเพื่อทำงานของตัวเองให้เป็นเลิศ


คนบางคนทำงานแบบเถาวัลย์ คือไม่ค่อยมีลำต้นของตนเอง หรือถ้ามีก็เป็นลำต้นที่อ่อนแอ ไม่สามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง แต่เก่งด้านสอดประสานกับคนอื่น สามารถแผ่ขยายตัวเองไปได้ไกล คนแบบนี้ชอบการเข้าสังคมมากกว่าการเพ่งทำงานของตัวเอง


คนบางคนเหมือนต้นหญ้า คือลำต้นก็ไม่มี สอดประสานได้กับแค่ต้นหญ้าที่อยู่ข้างเคียง เติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่


คนบางคนเหมือนต้นมะม่วง ลำต้นแข็งแรง กิ่งก้านแผ่ขยาย สอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียง แถมยังออกผลให้เป็นอาหารกับคนอื่น ๆ อีก


ผมมองดูคนรอบข้างผมทีละคน ๆ แล้วก็คิดตามไปว่าคนคนนี้เหมือนต้นอะไร แล้วผมก็ได้พบอะไรแปลก ๆ ผมได้เจอคนบางคนที่สามารถสื่อสารข้ามไปอีกแผนกหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่งานของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอีกคนหนึ่งเลย มารู้ทีหลังว่าบางคนเป็นเพื่อนเรียนมาด้วยกัน บางคนเป็นญาติกัน


ตรงนี้แหละที่ model ต้นไม้อธิบายไม่ได้ ผมจึงคิดต่อยอดออกไป


ความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับต้นไม้ในรูปแบบที่เรามองไม่เห็น - ระบบรากไงล่ะ


ต้นไม้สองต้นสามารถสื่อสารกันได้ในรูปแบบที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจนกว่าเราจะขุดดินลงไปสำรวจระบบรากดู เหมือนคนสองคนที่ผังองค์กรไม่ได้บอกเลยว่าเขาเกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เมื่อขุดไปดูในประวัติของเขาแล้วจึงพบความเกี่ยวข้องกัน


ระบบกิ่งก้านที่สอดประสานกันเป็น formal relationship
ระบบรากที่สอดประสานกันเป็น informal relationship


ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารองค์กร โดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์


บางทีเราอาจคิดว่าต้องตักเตือนพนักงานคนหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผ่านหัวหน้าแผนก
แต่บางทีถ้าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง อาจฝากบอกญาติของเขาที่อยู่อีกแผนกหนึ่งว่าให้เขาระมัดระวังการกระทำให้มากกว่านี้ - มันดูนุ่มนวลกว่าและไม่ค่อยเป็นทางการ บางทีอาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการเรียกมาตักเตือนโดยตรงเสียอีก


ผมเรียก model ใหม่นี้ว่า Forest Model คือองค์กรเปรียบเสมือนป่าไม้ มีต้นไม้หลากหลายชนิด มีชนิดลำต้นแข็งแรงกับลำต้นอ่อนแอ มีสูงชลูดกับร่มใบแผ่กว้าง มีพวกเลื้อยเหมือนเถาวัลย์ มีต้นหญ้ากอเล็ก ๆ มีกาฝากเกาะบนต้นไม้ใหญ่ มีที่ออกดอกสีสวยกลิ่นหอม มีที่ออกผลเป็นอาหารให้กับชาวโลก และที่สำคัญคือพืชทุกชนิดมีระบบรากที่สื่อสารกันได้ (ถ้าใครได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ rhizosphere คือโลกของรากไม้จะทราบว่าพืชมีการสื่อสารผ่านระบบรากด้วยการหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมาจริง ๆ ไม่ใช่แค่การพูดเปรียบเปรย)


ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของป่าไม้ การจัดการองค์กรคือการจัดป่าไม้นี้ให้ร่มรื่น และสมดุล สวนป่าแห่งนี้ เราสามารถนำต้นไม้ใหม่มาปลูก ขุดต้นไม้บางต้นทิ้งไป ย้ายต้นไม้บางต้นไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ทั้งกลายเติบโต และทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่างให้เป็นสวนป่าที่ตรงกับ concept ขององค์กรของเรา


ลูกค้าคือคนหรือสัตว์ป่ที่เดินเข้ามาในป่าไม้ของเรา บ้างก็มาอาศัยร่มเงา (มาซื้อบริการ) บ้างก็มาเก็บผลไม้ไปรับประทาน (มาซื้อสินค้า) ถ้าเราจัดสวนป่าของเราได้ดี ลูกค้าก็จะกลับมาหาเราเป็นประจำ


สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจและวางใจเป็นกลางว่าป่าไม้ต้องมีพืชหลากหลายชนิด แต่ละชีวิตต่างก็มีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง จะให้มีแต่ต้นมะม่วงอย่างเดียวก็เป็นสวนผลไม้ไม่ใช่ป่า


ในสายตาของผม diversity และ relationship จึงเป็นคีย์เวิร์ดของการจัดการองค์กรตาม Forest Model (คราวนี้คำว่า relationship ได้ครอบคลุมคำว่า participation แล้ว - ไม่พลาดอย่างคราวก่อน)


ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ป่าของผมมีไส้เดือนเยอะ ๆ เพื่อช่วยพรวนดินทำให้ระบบรากเจริญเติบโต และไม่อยากมีไส้เดือนฝอยที่คอยกัดกินรากพืช


ขอจบด้วยรูปไทรงาม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สวนป่าที่รากกลายเป็นต้น ต้นกลายเป็นราก สืบต่อกันมากว่า 350 ปี นี่แหละองค์กรที่ไม่มีวันตาย

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

The 5th keyword is participation

ในการประชุมเกี่ยวกับนโยบายการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งผม "บังเอิญ" ได้รับเชิญไปประชุมด้วย

ผมเสนอคีย์เวิร์ด 4 คำคือ "สนองความต้องการของสังคม", "ชี้นำสังคม", "ประสิทธิผล" และ "ประสิทธิภาพ" ขอให้มี 4 คำนี้อยู่ในวิสัยทัศน์การบริการวิชาการ

บังเอิญในที่ประชุมแห่งนั้นมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งได้กรุณาเพิ่มเติมว่า ควรมีคีย์เวิร์ดอีกคำหนึ่งคือ "การมีส่วนร่วมของชุมชน"

ทันทีที่ผมได้ฟัง ผมก็รู้สึกหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

...รู้สึกตกใจที่เปิดความคิดของตัวเองให้มีช่องโหว่ขนาดใหญ่ คิดว่าคีย์เวิร์ด 4 คำจะครอบคลุมแล้ว แต่กลับขาดกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วม
...รู้สึกอุ่นใจที่ช่องโหว่นั้นได้ถูกปิดไว้อย่างรัดกุมและแข็งแรง
...รู้สึกประทับใจที่ได้รับการชี้แนะจากผู้ทรงคุณวุฒินั้นด้วยความเมตตา
...รู้สึกดีใจแทนมหาวิทยาลัยแห่งนั้นที่มีคนมาช่วยกันออกความคิดเชิงสร้างสรรค์

เสร็จจากงานประชุมครั้งนั้น ผมยังคิดถึง "คีย์เวิร์ดที่ห้า" อีกเป็นร้อยเป็นพันครั้ง

ผมรุ้สึกเหมือนที่ผ่านมาปิดตาข้างหนึ่งมาตลอด

ตอนนี้ได้เปิดออกแล้ว