วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนูน้อยหมวกแดง

เมื่อวันก่อน ผมได้ดูหนังเรื่อง Red Riding Hood โดยไม่ได้รู้มาก่อนว่าเป็นการนำนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงมาแปลงใหม่ ดูจบแล้วได้ข้อคิดอะไรอีกหลายข้อ และพอกลับมาเปิดดู Wikipedia คำว่า Little Red Riding Hood ก็พบเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย

เมื่อพูดถึงนิทานเรื่องนี้ เราหลายคนคงจำกันได้ว่าหนูน้อยหมวกแดงไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านในป่า แต่คุณยายโดนหมาป่ากินไปก่อน เมื่อหนูน้อยหมวกแดงตามไปก็โดนกินอีกคน จนกระทั่งมีนายพรานมาพบ และช่วยเหลือออกมาโดยใช้กรรไกรผ่าท้องหมาป่าช่วยยายหลานออกมา แล้วนำก้อนหินใส่เข้าไปแทน หมาป่าตื่นขึ้นมา ไปกินน้ำ แล้วก็ตกน้ำจมน้ำตาย จบ

ด้วยความเป็นนิทานเด็ก ตัวละครแต่ละตัวจะไม่มีความซับซ้อน หนูน้อยหมวกแดงก็คือความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา หมาป่าคือความชั่วร้าย และนายพรานคือผู้ช่วยเหลือ

ผมชอบการบิดเนื้อหาจากนิทานเด็ก จนกลายมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะสร้างความสลับซับซ้อนของจิตใจตัวละครได้เหมือนกับจิตใจปุถุชนที่มีโลภโกรธหลงในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่แค่มองมุมเดียวเหมือนในนิทาน

โดยการบิดเนื้อหาประการแรกคือเปลี่ยนจากหมาป่าธรรมดา (wolf) เป็นมนุษย์หมาป่า (werewolf) แค่นี้ก็จะมีอะไรตามมาอีกเยอะ เช่น พระจันทร์เต็มดวง คนกลายร่างเป็นหมาป่า คนโดนหมาป่ากัดแล้วกลายเป็นมนุษย์หมาป่า การฆ่ามนุษย์หมาป่าด้วยอาวุธที่ทำจากเงิน (กลายเป็นที่มาของสำนวน silver bullet ในภาษาอังกฤษ)ฯลฯ

บิดเนื้อหาประการที่สอง ก็คือเนื่องจากมนุษย์หมาป่าจะคืนร่างเป็นมนุษย์ได้ในตอนกลางวัน ดังนั้นคนในหมู่บ้านจึงไม่มีทางรู้ว่าใครกันแน่เป็นมนุษย์หมาป่าตนนั้น มุมสำคัญของเนื้อหาอยู่ตอนเกือบจบเมื่อสาวน้่อยหมวกแดงได้รู้ว่ามนุษย์หมาป่าตนนั้น แท้จริงแล้วคือพ่อของเธอเอง ซึ่งก็หวังดีกับเธอ จะมอบรอยกัดเพื่อสืบทอดความเป็นมนุษย์หมาป่าอย่างสมบูรณ์ให้เธอเพื่อกำลังที่กล้าแข็งขึ้นจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก แต่ท้ายที่สุด เธอไม่ยอมรับรอยกัดนั้น แต่กลับร่วมมือกับคนรัก ฆ่าพ่อของเธอตายด้วยอาวุธที่ทำจากเงิน

เหมือน ๆ ว่าหนังจะจบแค่นั้น เพราะอสูรร้้ายได้ถูกกำจัดแล้ว แต่สาวหมวกแดงกลับมารู้ภายหลังว่าคนรักของเธอก็ถูกพ่อของเธอกัดไปแล้วในระหว่างต่อสู้ แต่สาวหมวกแดงเลือกที่จะไม่ฆ่าคนรักของตน ในทางกลับกัน เธอเลือกที่จะอาศัยอยู่บ้านกลางป่าแทนย่าของเธอ และตอนจบเธอก็ส่งรอยยิ้มให้กับหมาป่าในคืนเดือนเพ็ญ เหมือนกับรู้ว่านั่นคือคนรักของเธอนั่นเอง

ผมคิดต่อไปเองว่า ต่อมาเธอก็คงมีลูกที่มีสายเลือดมนุษย์หมาป่าซึ่งจะแข็งแกร่งกว่ารุ่นพ่อเธอขึ้นไปอีก แล้วเรื่องก็จะเกิดวนเวียนต่อไป

ย้อนกลับไปมองสัญลักษณ์ของตัวละครในนิทาน ทำให้ผมมองเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หนูน้อยหมวกแดงในนิทานเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ แต่สาวหมวกแดงในหนัง เป็นความบริสุทธิ์ที่มาทราบภายหลังว่าตนเป็นสายเลือดของความชั่วร้ายที่น่าเกลียดชัง การที่เธอเลือกฆ่าพ่อของตน (ในขณะที่อยู่ในร่างมนุษย์ ไม่ใช่ในร่างหมาป่า) ดูง่าย ๆ เหมือนว่าธรรมะย่อมต้องพิฆาตอธรรม แต่มาลองคิดดูอีกที พ่อของเธอก็ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้าย กลับมีเจตนาดีที่จะเสริมพละกำลังและอำนาจให้กับเธอเท่านั้น และเป็นเจตนาดีที่แสดงออกทั้งในขณะที่เป็นมนุษย์และขณะเป็นหมาป่าด้วย

แต่เธอก็ฆ่าพ่อของเธอ... ตรงนี้ที่ทำให้ภาพลักษณ์ความบริสุทธิ์ของเธอต้องถูกมองเสียใหม่

หลังจากมนุษย์หมาป่าถูกฆ่าตายไปแล้ว เมื่อเธอพบว่าแฟนของเธอถูกกัด ถ้าเธอคือความบริสุทธิ์ที่มีเจตนาจะพิฆาตอธรรม เธอก็ควรจะกำจัดแฟนของเธอเองด้วย แต่เธอกลับไม่ทำ ถ้าจะมองว่าความบริสุทธิ์ในขณะนั้นคือความเมตตาไว้ชีวิต ก็รู้สึกว่าจะสายเกินไปแล้ว

เอาล่ะ อย่าตำหนิสาวหมวกแดงเลย... กลับมามองตัวเราดีกว่า หลายครั้งเรารู้สึกว่าเราได้จัดการกับปัญหาบางอย่างลุล่วงไปแล้ว หรือได้จัดการกับคนสร้างปัญหาไปแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ก็จะหมดไป จนเราอาจลืมมองไปว่า ปัญหาบางอย่าง พฤติกรรมที่ไม่ีดีบางอย่างยังคงอยู่รายล้อมตัวเรา หรือแม้กระทั่งอยู่ในตัวเราเอง แต่เราแค่มองมันไม่เห็น เช่นเดียวกับที่สาวหมวกแดงที่ต้องการกำจัดหมาป่า กลับไม่รู้ตัวว่ามีตัวเองก็มีสายเลือดหมาป่าเช่นกัน บางครั้งเราไล่ตามจับการทุจริตในองค์กร แต่ไล่ไปไล่มากลับพบว่าเราเองก็เคยทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงอย่างนั้นเหมือนกัน

แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อมีปัญหาเดิมเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง แต่คนที่เป็นปัญหานั้นเป็นคนที่เรารักชอบ แทนที่เราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเด็ดขาดเหมือนเดิม เรากลับใช้วิธีประนีประนอม เช่นเดียวกับที่สาวหมวกแดงไม่ยอมฆ่าแฟนของตน เข้าข่าย Double Standard

จิตใจคนเราก็เช่นเดียวกัน จะรักษามาตรฐานของคุณธรรม ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นให้อยู่ระดับเดิมไปตลอดเป็นเรื่องที่ยาก และแม้จะืทำได้ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะดีที่สุด เพราะคุณธรรมเป็นเรื่องที่ต้องปรับตามกาลเทศะ มากกว่าจะืทำให้คงที่ตายตัว

ภาษิตลาตินคำหนึ่งกล่าวไว้ว่า Summum jus, summa injuria การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดคือการทำร้ายอย่างทารุณ หรือ ความยุติธรรมสุดโต่งคือความอยุติธรรม

ดีชั่วตัดสินอย่างไร? เราเป็นคนดี แต่ไม่เต็ม 100% จะตัดสินคนอื่นได้หรือไม่? จะตัดสินอย่างไรให้ยุติธรรม? แท้จริงแล้วยุติธรรมคืออะไร?

นิทานหนูน้อยหมวกแดง ก็จบลงด้วยคำถามในใจ ต่าง ๆ นานา