วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อำนาจสีเทา

"อำนาจ" เป็นสิ่งที่ดูทรงพลัง ผมเคยคิดว่าสีของอำนาจน่าจะเป็นสีแดง
แต่ "อำนาจ" ก็ดูน่ากลัว น่าจะเป็นสีดำ หรืออาจจะดูน่าเลื่อมใสบริสุทธิ์เหมือน "สีขาว"

แต่หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลายปี ผมเริ่มมองว่าอำนาจมีสีเทา

สีเทาแทนความกำกวม และมีหลายคนที่นำเอาความกำกวมมาแปรเป็นอำนาจของตัวเอง แล้วเรียกมันเสียใหม่ว่า "วิจารณญาณ" ดังที่เราจะเห็นได้จากกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งมักจะเปิดช่องให้ผู้บริหารได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ได้เมื่อไม่มีระเบียบข้อใดระบุไว้ ยิ่งมีช่องว่างเปิดกว้างไว้เท่าไร อำนาจของผู้บริหารก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น อันที่จริงสีเทาควรจะเป็นสีของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านทำงานด้วยการตัดสินความกำกวมเพื่อชี้ถูกชี้ผิด

ลองนึกภาพผู้บริหารที่ชอบใช้พระเดชปกครองลูกน้อง มีลูกน้องกี่คนก็กดหัวเขาหมด ใช้แต่อำนาจสีดำ คนเหล่านี้ปกครองลูกน้องไม่ได้ อย่างมากก็สั่งให้ลูกน้องทำตามคำสั่งของเขาได้ แต่ให้ลูกน้องช่วยคิดช่วยพัฒนา ร่วมแรงร่วมใจไม่ได้ อำนาจสีดำจึงมีผลเพียงทำให้ลูกน้องกลัว

ผู้บริหารที่ใช้อำนาจสีขาว เน้นแต่ความเมตตากรุณาต่อลูกน้อง ให้อภัยลูกน้องเสมอ ลูกน้องรักและบูชา แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำงานให้ได้ดีเสมอไป เพราะการที่ลูกน้องมีความรักต่อเจ้านาย และได้รับความรักจากเจ้านายมาตลอด เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนางานของเขาอีกต่อไป เพราะจะทำหรือไม่ทำก็ได้รับผลตอบแทนจากเจ้านายเท่ากัน อำนาจสีขาวมีผลแค่ทำให้ลูกน้องรัก

ผมเชื่อว่า ผู้บริหารที่ใช้อำนาจสีเทาคือผู้บริหารที่มีอำนาจมากที่สุด เพราะเขาสามารถให้คุณให้โทษกับใครก็ได้ ไม่มีใครเป็นคนรัก ไม่มีใครเป็นคนชัง ทุกคนเป็นคนเท่า ๆ กัน มีโอกาสจะสร้างความผิด และความชอบเท่า ๆ กัน ใครทำดีก็ได้ความชอบ ทำผิดก็ถูกลงโทษ

ใคร ๆ ก็อยากเป็นเจ้านายสีเทาที่มีความยุติธรรมแก่ลูกน้อง แต่น่าเสียดายที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปไม่สามารถเป็นผู้นำด้วยอำนาจสีเทาอย่างสมบูรณ์ สีเทาอย่างสมบูรณ์หมายความว่า ถึงแม้จะส่องด้วยแว่นขยานอีกกี่เท่า ก็ยังเห็นเป็นสีเทา หลายคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำสีเทา เพราะว่าตัวเองมีทั้งให้คุณและให้โทษ โดยอาจลืมไปว่าลูกน้องแค่ละคนนั้นได้รับคุณและโทษไม่เท่ากัน บางคนเป็นคนโปรด ก็ได้รับคุณมาก คนชังก็ได้รับโทษมาก ผู้นำแบบนี้มองไกล ๆ เป็นสีเทา แต่พอมองใกล้ ๆ กลับเห็นเป็นจุดสีดำกับสีขาวสลับกัน หรือบางทีก็สลับด้วยเวลา หรือโอกาส เช่นอาจจะเป็นเจ้านายจอมโหดในวันทำงาน แต่เป็นเจ้านายผู้แสนใจดีในวันหยุด อาจจะเข้มงวดมากเรื่องการจ่ายค่าแรง แต่กลับใจดีมาก ๆ เรื่องสวัสดิการ บางเวลาเป็นสีดำ บางเวลาเป็นสีขาว เมื่อมองเฉลี่ย ๆ แล้วเป็นสีเทา

ดังนั้นผมจึงคิดว่าสีของอำนาจต้องเป็นสีเทา จึงจะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีได้ แต่การจะเป็นผู้นำสีเทาที่ดีได้นั้น จะต้องมีหลักการที่ดีอยู่ในใจ ถ้าใช้กฎหมายได้ ก็ให้ใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ก็ควรจะใช้จารีตประเพณี ถ้าจารีตประเพณีไม่มีระบุไว้ก็ควรจะใช้หลักศีลธรรม และถ้าเรื่องใดไม่มีหลักศีลธรรมกำหนดไว้จึงจะใช้ประชามติ ต่อเมื่อเรื่องใดไม่จำเป็นต้องขอประชามติ นั่นแหละ จึงจะเลือกตัดสินใจด้วยวิจารณญาณส่วนบุคคล

ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องในโลกนี้ที่ตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณส่วนบุคคล แต่มันคือเกณฑ์สุดท้ายที่ควรนำมาใช้ การนำวิจารณญาณส่วนตัวมาใช้บ่อย ๆ คือการแสดงสีเทาในใจตัวเองออกมา การใช้ครั้งแรก ๆ ทำให้เรารู้ว่าเรามีอำนาจ แต่เมื่อใช้บ่อย ๆ อำนาจมักจะไม่รักษาความเป็นสีเทาที่สมบูรณ์ได้ มันจะคอยผันตัวเองเป็นสีดำบ้าง สีขาวบ้าง หรือกลายเป็นม้าลายสีดำสลับขาวบ้าง

การกลับมาอยู่ตรงทางสายกลาง เป็นผู้นำสีเทา คือผู้นำในอุดมคติ คือผู้นำที่มีอำนาจที่แท้จริง

ผมขอจบบทความนี้ด้วยปรัชญาเต๋า ในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (เต๋าเต้อจิง) เกี่ยวกับอำนาจในการปกครอง ซึ่งท่านกล่าวไว้ลึกซึ้งมากกว่าความคิดของผมในวันนี้ ซึ่งผมจะต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะตีโจทย์แตก ตามโจทย์ของท่านเหลาจื้อ อำนาจที่แท้จริงควรจะไม่มีสีหรือมองไม่เห็น ไม่ใช่มีสีเทาอย่างที่ผมคิดในวันนี้

เหลาจื้อท่านกล่าวว่า
การปกครองที่แย่ที่สุด คือการปกครองที่ประชาชนเกลียดผู้ปกครอง
การปกครองที่แย่รองลงมา คือการปกครองที่ประชาชนกลัวผู้ปกครอง
การปกครองที่แย่รองลงมาอีก คือการปกครองที่ประชาชนรักผู้ปกครอง
แต่การปกครองที่ดีที่สุด คือการปกครองที่ประชาชนคิดว่าไม่มีการปกครองอยู่

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 6

ตี 2 เศษผมออกจากอาคารผู้โดยสารมาขึ้นรถแท็กซี่ เชื่อมั้ยครับใกล้ไกลคิดราคาเดียว 500 บาทครับ

เอาล่ะคืนนี้ผมเหนื่อยมาพอแล้ว ผมจะหาโรงแรมนอนแล้ว

คืนนี้พักเรื่องพันธมิตรไว้ก่อน

เช้าวันที่ 26 ผมตื่นค่อนข้างสาย เพราะนอนดึกมาก ช่วงกลางวันผมไปเดินตามห้าง ก็ได้พบว่าไม่มีบรรยากาศของความไม่สงบเลย ทุกอย่างดูเป็นปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นเรื่องเดียว คือไม่ค่อยเห็นคนกรุงเทพฯ ใส่เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงแล้ว

เย็นวันที่ 26 เป็นกำหนดการที่ผมจะเดินทางกลับพิษณุโลก

ตอนที่จะเลี้ยวเข้าสนามบิน แท็กวี่เจ้ากรรมดันเลี้ยวจากโทลล์เวย์เข้าอาคารระหว่างประเทศ ก็เลยมาจ๊ะเอ๋กับพันธมิตรที่ตั้งด่านไว้รอรับที่เชิงสะพาน แต่ดีหน่อยที่เขาไม่กักรถเรา ปล่อยให้เลี้ยวออกถนนใหญ่ได้ ก่อนจะไปเลี้ยวเข้าอาคารในประเทศที่ทางเข้าถัดไป

การเช็คอินที่ดอนเมืองเป็นปกติ ไม่มีลางบอกเหตุใด ๆ ช่วงเย็นนี้ได้ยินข่าวเรื่อง พล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาแถลงการณ์การประชุมร่วมหลายฝ่าย ซึ่งเสนอให้นายกฯยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ แล้วก็มีข่าวว่านายกฯ บินไปลงที่เชียงใหม่แทน

มีคนปล่อยข่าวว่านายกจะบินมาประชุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่งั้น รมต.ก็จะบินไปประชุมที่เชียงใหม่

ดอนเมืองจึงกลายเป็นเป้าหมายต่อไปของพันธมิตร ซึ่งเขาเพียงแต่เดินมาจากอาคารระหว่างประเทศไม่กี่ร้อยเมตรก็จะมาถึงแล้ว

และก็เป็นเช่นนั้น พันธมิตรเข้ายึดชั้นล่าง ผู้โดยสารขาเข้าจึงต้องเข้าที่ชั้นบน เข้ามาปะปนกับผู้โดยสารขาออกที่กำลังรอเที่ยวบินของตน สนามบินประกาศให้ทุกคนไปรวมตัวอยู่ด้านเกท 84 ซึ่งเป็นเกทที่ไกลที่สุด เผื่อว่าจะต้องอพยพคนลงไปที่จุดรวมพลข้างล่าง

คราวนี้โชคดีหน่อยที่พันธมตรทำงานมีขั้นตอนมากขึ้น เพียงไม่กี่นาทีต่อมา สนามบินก็ประกาศว่าเหตุการณ์ปกติแล้ว จะทำการบินต่อไป

หลังจากกลับมาพิษณุโลกแล้ว (ช้ากว่าปกติเกือบ 1 ชั่วโมง) ตอนเช้าจึงได้ทราบว่าพันธมิตรได้ยึดสนามบินดอนเมืองหลังจากเที่ยวบินสุดท้ายจากพิษณุโลกลงจอดที่ดอนเมือง เท่ากับว่าเป็นการปิดสนามบินโดยละมุนละม่อมกว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับเมื่อคืนคือ พันธมิตรทำงานแบบไม่มีแผน และไม่มีการประชาสัมพันธ์ แล้วใครจะเข้าใจได้ว่าคุณทำงานด้วยความชอบธรรม หรือความชอบใจ? กองกำลังนับแสนที่ไม่มีวินัย ภายใต้การนำของแกนนำ 13 คนที่ไม่มีความเป็นหนึ่ง จะนำประเทศชาติไปสู่ทิศทางใด?

ผมรู้สึกสะอิดสะเอียนมากที่ได้ยินคำพูดจากพันธมิตรว่าไม่ต้องการยุบสภา แต่ต้องการแก้ด้วยการให้นายกลาออก แล้วจับมือกันระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาภิวัตน์ โดยไม่ใช่หมายถึงพลงต.จำลองเป็นนายก หรือแกนนำเป็นรัฐมนตรี

น่าสะอิดสะเอียนมาก ต่อสู้กันมานานหลายเดือน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการเป็นรัฐบาลโดยไม่ต้องเลือกตั้ง

นี่น่ะหรือคือกองทัพของประชาชน คือกองทัพธรรม คือกองทัพประชาภิวัตน์

หรือแค่กลุ่มอันธพาลที่อยากเป็นใหญ่ในบ้านเมือง

ผมเคยชื่นชมคุณสนธิ ลิ้มทองกุลในสมัยที่ท่านทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เพราะรายการเต็มไปด้วยสาระเนื้อหา เบื้องลึก เบื้องหลัง และประวัติศาสตร์ คนที่ฟังแล้วจะได้รับความรู้ และตาสว่างขึ้น ได้เข้าใจมากขึ้นว่าที่รัฐบาลพูดนั้นมีความหมายโดยตรงว่าอย่างไร โดยนัยว่าอย่างไร เราได้รู้จักคำว่าประชานิยมกันมากขึ้น และรู้ว่ามันต่างกับประชาธิปไตยอย่างไร

ผ่านมา 3 ปี วันนี้พันธมิตรปราศรัย 24 ชั่วโมงเพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐบาลให้เกิดขึ้นในใจประชาชนนับแสน โดยไม่พยายามนำเสนอการเมืองแนวใหม่ที่เขาเรียกว่าแนวประชาภิวัตน์ ซึ่งเขาเชื่อว่าดีกว่าประชาธิปไตย

ถ้าประชาภิวัตน์แปลว่าการคล้อยตามความคิดของประชาชน ใครอยากได้อะไรก็หาพวกมาเยอะ ๆ แล้วได้สิ่งนั้นไป ผมถือว่าเป็นกฎของอันธพาล ไม่ใช่ของคนที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ประชาภิวัตน์ที่ควรจะเป็นคือทำให้เสียงของทุกคนดังฟังชัดขึ้น แต่ต้องตั้งใจฟังเสียงของคนอื่นมากขึ้นเช่นกัน

ต่อให้มีการยุบสภาในวันพรุ่งนี้ ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในความมืดมนต่อไป เพราะเรายังไม่รู้จักคำว่าประธิปไตยดีพอ

ถ้าพันธมิตรได้อ่านข้อความนี้ ผมขอร้องล่ะ คุมคนของท่านให้อยู่ในระเบียบกว่านี้ ทำอะไรให้มีแผนปฏบัติการที่ชัดเจนกว่านี้ อย่าทำอะไรตามใจแบบนี้ ประเทศชาติก็เสียหาย ท่านก็ไม่ได้สิ่งที่ท่านเรียกร้อง

ผมก็ไม่ชอบระบบ "คอรัปชันถูกกฎหมาย" แต่ถ้าท่านจะล้มเขา ก็ควรจะล้มด้วย "ปฏิบัติการแห่งความชอบธรรม"

การปิดสนามบิน ผิดจากหลักอหิงสาโดยสิ้นเชิง

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 5

ขั้นตอนการยกเลิกตั๋ว และยกเลิกการเดินทางออกนอกประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว แค่ไม่กี่นาทีผมก็ได้ออกมายืนหน้าประตู ตม. อีกครั้ง

ผมมองดูร้านรอบ ๆ ส่วนใหญ่ปิดร้านแล้ว แต่เนื่องจากร้านในสนามบินไม่มีประตู จึงต้องนำเอาโต๊ะในร้านมาวางเรียงซ้อนกันปิดหน้าร้านไว้

มองไปอีกด้านหนึ่ง ฝั่งในประเทศเต็มไปด้วยกองกำลังของพันธมิตรนอนเกลื่อนตามพื้น เหมือนกับผู้โดยสารที่อยู่ข้างใน คนสองฝ่ายไม่ได้นอนหลับสบายเหมือนที่บ้านเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ ฝ่ายหนึ่งเป็นคนทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงชาวต่างชาติที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

ถ้าไปถามพันธมิตรฯ เขาก็คงบอกว่าเขาเสียใจสำหรับความไม่สะดวก แต่นี่คือสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม และผลที่เราได้นั้นคุ้มค่ายิ่งนักกับประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการลาออกของนายกรัฐมนตรี

เชื่อเถอะ ถ้าเอาพวกพันธมิตรไปอยู่ต่างประเทศแล้วโดนปิดสนามบินอย่างนี้ เขาจะไม่ยอมรับ "การเสียสละ" อย่างนี้อย่างแน่นอน

สิ่งที่ผมไม่เข้าใจคือคุณยึดสนามบินเพื่ออะไร ถ้าจะยึดเพื่อสร้างความชอบธรรม คุณก็จะต้องอธิบายให้มวลชนที่อยู่ในสนามบินทราบว่าคุณกำลังทำอะไร คุณจะไม่ล่วงละเมิดสิทธเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้โดยสารอย่างไร

จะดีมาก ๆ ถ้าพวกเขาจะก่อม็อบโดยไม่ต้องกระทบกับตารางการบิน ในเมื่อสิ่งที่เขาต้องการคือตัวนายกฯ ที่กำลังจะบินกลับจากเปรู แล้วมวลชนคนอื่น ๆ เขาไปรู้เรื่องอะไรด้วย?

การยึดทำเนียบถือว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันบริหาร แต่ยังไม่ร้ายเท่ากับการยึดสนามบิน เพราะการยึดทำเนียบรัฐบาลมีผลกระทบต่อคนที่ทำงานในทำเนียบเพียงไม่กี่ร้อยหรือพันคน

แต่การยึดสนามบินเพื่อสร้างสถานการณ์รุนแรง กระทบโดยตรงต่อผู้โดยสารหลายพันคนที่อยู่ในสนามบินเวลานั้น และอีกหลายหมื่นคนที่ต้องเลื่อนเวลาการบินในวันต่อ ๆ ไป ผมถือว่าพันธมิตรหมดความชอบธรรมในการกู้ชาติแล้วครับ

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 4

การหาที่หลับนอนในสนามบินที่กว้างใหย่ขนาดนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก

ที่ว่าง่ายเพราะว่าสนามบินกว้างมาก คุณจะนอนตรงไหนก็ได้ แต่มันยากตรงที่ว่าสนามบินสุวรรณภูมิใช้ระบบทำความเย็นแบบหล่อน้ำเย็นตามพื้น โดยไม่ต้องใช้ท่อลมอย่างในห้างสรรพสินค้า

หลายคนคงไม่เคยนั่งบนพื้นสนามบินสุวรรณภูมิมาก่อน เพราะปกติจะมีเก้าอี้นั่งเพียงพอสำหรับทุกคน

แต่วันนี้...ไม่พอ

หลายคนนั่งพื้น นอนพื้นไม่ได้ เพราะเย็นเกินไป ก็มานอนบนเก้าอี้แทน ใครที่เคยนอนพื้นหินอ่อนกลางแจ้งที่มีลมพัดตอนฤดูหนาว คงพอเข้าใจว่ามันเย็นแค่ไหนนะครับ แล้วจะมีสักกี่คนที่พกผ้าห่มมาในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง? ใครใส่เสื้อผ้าหนา ก็นอนสบายหน่อย แต่ถ้าเสื้อผ้าบางก็นอนขดเอา

ผมยึดเก้าอี้ได้ 1 ตัวนั่งสับประหงกจนกระทั่งประมาณตี 1 ครึ่งก็ได้พบ "น้ำใจของการบินไทย" นำน้ำและขนมมาแจกผู้โดยสารของการบินไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่ได้แยกแยะสายการบินหรอกครับ ไม่มีการถามหาบอร์ดดิงพาส ว่าเป็นสายการบินไหน แล้วก็ประกาศว่าข้างล่างมีแจกน้ำกับแวนด์วิชอีก ขอให้ผู้โดยสารของการบินไทยลงไปรับได้

ผมเดินลงไปบริเวณทรานสิท ก็พบเจ้าหน้าที่การบินไทยประมาณ 10 คนกำลังขะมักเขม้นกับการแจกน้ำแจกขนมให้ผู้โดยสาร ซึ่งก็แยกกันไม่ออกหรอกว่าเป็นของสายการบินไหน ปากก็ร้องบอกว่าคนละ 1 ชิ้นนะคะ / นะครับ แต่ผู้โดยสารหลายคนก็หยิบไปมากกว่านั้น บ้างก็อ้างว่ามีกัน 2 คน บางคนรวบน้ำเปล่าไป 6 ขวดไม่พูดอะไรซักคำ

ผมกินแวนด์วิชและน้ำเสร็จก็สอบถามทางเจ้าหน้าที่จึงทราบว่า ผมสามารถไปขอยกเลิกตั๋วเครื่องบินได้ที่ตม. หลังรูปเกษียรสมุทร

ผมดีใจขึ้นมาทันที เพราะนั่นหมายถึงผมมีโอกาสจะได้กลับบ้านแล้ว

คนในสนามบินเตือนผมว่าพันธมิตรเขายึดสนามบินแล้ว จะออกไปยังพอไปได้ แต่จะต้องค่าแทกซี่จะแพงหน่อย

ผมมองกลับไปที่เคาน์เตอร์การบินไทยอีกครั้ง ขนมชุดใหม่ถูกนำมาวางอีก คราวนี้มาหยิบกันทีละชิ้น ไม่หยิบมากเหมือนชุดก่อน คงจะเริ่มรู้แล้วว่าการบินไทยมีขนมเยอะจริง ๆ

ผมนึกถึงคำพูดของท่านมหาตมะ คานธี ที่ว่า
โลกนี้มีทรัพยากรเหลือเฟือให้มนุษย์ทุกคนใช้อย่างพอเพียง แต่มีไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว

เอาล่ะ ผมจะได้กลับออกไปข้างนอกแล้วนะ

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 3

ผมนั่งกับพื้นอยู่ที่หน้าเกทอยู่นานสองนาน จนครั้งสุดท้ายที่แวะไปดูที่บอร์ด ผมก็พบว่าเที่ยวบินของผมก็ถูกยกเลิกแล้ว

หลักจากเดินไปติดต่อตรงโน้นที ตรงนี้ที ผมก็ได้ทราบว่าผมต้องรอให้การบินไทยยกเลิกตั๋วเครื่องบินของผม เพื่อนำไปยื่นต่อ ตม. หลังจากนั้นผมจึงจะกลับออกไปนอกสนามบินได้

หลายคนแนะนำว่าออกไปก็เจอพันธมิตรปิดกั้นอยู่ ก็กลับบ้านไม่ได้เหมือนเดิม น่าจะอยู่ในสนามบินจนเช้า อีกอย่างเคาน์เตอร์การบินไทยก็ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว จะยกเลิกตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้

คนที่ให้ข้อมูลแก่ผมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นน้องผู้หญิง 2 คนในชุดสีม่วงของพนักงานการบินไทยนั่นเอง น้องทั้งสองคนน่าจะเป็นกราวด์ ในตำแหน่งที่ไม่สูงพอจะดำเนินการเรื่องตั๋วให้ผมได้ แต่น้องเขายืนอยู่ตรงกลางทางเดิน คอยตอบคำถามของคนที่ผ่านไปผ่านมาอย่างขะมักเขม้น ถึงแม้น้องเขาช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่ผมประทับใจน้องทั้งสองคนนั้นที่ความมีน้ำใจ และความมีจิตใจของการให้บริการของน้องเขา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่านี้กลับบ้านไปแล้ว แต่น้องสองคนยังยืนตอบคำถามตามความสามารถที่ตนจะทำได้ อย่างไม่ท้อถอย

ผมกล่าวกับน้องทั้งสองคนว่า "ขอบคุณครับที่ยังอยู่แถวนี้"

ผมไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในสนามบินเขากลัวอะไร แต่เขาพากันกลับบ้านไปก่อนเวลาแล้ว บางร้านก็เก็บสินค้าออกจากตู้ทั้งหมด อาจเป็นเพราะเวรต่อไปไม่มารับช่วง และตัวเองก็กลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้าน จะทิ้งร้านก็กลัวของหาย หรือว่ากลัวพันธมิตรจะบุเกข้ามาทำลายข้าวของ

ไม่มีใครรู้หรอกครับ เพราะเขาทำงานกันอย่างไม่มีแผนนี่ครับ

สำหรับผม มันเป็นภาพที่แปลกตามากเลย ที่ได้พบร้านในสนามบินซึ่งเคยเปิดสว่างไสวตลอดเวลา แต่ตอนนี้กลับปิดเหลือแต่ร้านโล่ง ๆ ลองนึกภาพสิครับ ถ้าคุณเห็นร้าน 7-11 สาขาใกล้บ้านคุณปิดตอนกลางคืน มันจะแปลกตาขนาดไหน

ผมได้ทราบว่าเคาน์เตอร์การบินไทยจะเปิดตอนตี 5 ครึ่ง เพื่อจะช่วยเคลียร์ปัญหาเรื่องตั๋ว และต่อมาก็ได้ทราบว่าเลื่อนออกไปเป็น 7 โมง เพราะพันธมิตรปิดถนนอยู่ การจะเข้ามาภายในสนามบินน่าจะเป็นเรื่องลำบากเกินไป

เอาล่ะ ด้วยผลงานของพันธมิตร ผมจะต้องหาที่หลับนอนในสนามบินระดับโลกสำหรับคืนนี้แล้วล่ะ

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 2

หลังจากพันธมิตรบุกเข้าอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ได้สัก 1 ชั่วโมง ผมก็ต้องตัดสินใจว่าจะถอยหลังกลับบ้าน หรือจะเดินหน้าต่อ

โอกาสที่เที่ยวบินจะโดนยกเลิกมีสูงมาก แต่ถ้าบังเอิญเขาไม่ยกเลิกล่ะ? ผมคงจะเสียดายที่ตื่นตระหนกเกินไป ในที่สุดผมก็เลือกที่จะเดินหน้าเข้า ตม. อย่างมากถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิกผมก็แค่เสียเวลาคืนนี้ทั้งคืน

การตรวจพาสปอร์ตผ่านไปอย่างราบรื่น เหมือนว่าเจ้าหน้าที่ ตม. จะไม่ได้ยินประกาศของสนามบิน

ผมเดินเข้าไปเรื่อย ๆ จนถึง เกทที่จะไปขึ้นเครื่อง แต่กลับพบว่าเกทถูกปิดชั่วคราว เพราะไม่รู้ว่าเที่ยวบินจะยกเลิกหรือเปล่า มองไปรอบตัว ทุกคนยืนนิ่ง สายตาจับจ้องที่จุดเดียวกันคือบอร์ดที่แสดงเที่ยวบินสำหรับคืนนี้ ซึ่งก็ถูกยกเลิกไปหลายเที่ยวบินแล้ว

ผมเลือกที่มุมว่าง ๆ มุมหนึ่งไม่ห่างจากทางเข้าเกท ทุกคนอยู่ในอาการเงียบสงบ ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง คนต่างชาติมีหน้าตาที่เคร่งเครียดมากกว่าคนไทย เพราะเขาไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไร ในขณะที่คนไทยอย่างมากก็แค่กังวลเรื่องธุระที่จะไปทำที่ต่างประเทศ

ท่ามกลางความเงียบเหงาและอึมครึม ผมได้พบภาพของน้ำใจ ซึ่งดังขึ้นพร้อมกับสัญญาณ บี๊พ บี๊พ บี๊พ ของเครื่องตรวจจับโลหะ ผมมองตามเสียงนั้นไป และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ 2-3 คนกำลังยกเก้าอี้ยาวจากในเกทออกมาวางหน้าเครื่องตรวจจับโลหะ และตะโกนบอกว่า "elderly people sit here" คนที่ได้ยินคงยิ้มเหมือนกับผม

ในนาทีที่ยากลำบากในชีวิต เราได้เห็นน้ำใจของมนุษย์โลก ที่หยิบยื่นให้แก่กัน

แต่.....
คืนนี้ยังอีกยาวนานนัก เราจะช่วยเหลือกันไปได้อีกนานแค่ไหน เราจะต้องอยู่ในสถานที่แห่งนี้ต่อไปอีกกี่ชั่วโมง

พันธมิตรบุกสนามบิน ตอนที่ 1

วันที่ 25 พ.ย. 51 พันธมิตรบุกยึดสุวรรณภูมิ วันที่ 26 ยึดดอนเมือง

ผมคือคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสองนั้น

ผมบินจากสุโขทัยมาถึงสุวรรณภูมิประมาณ 1 ทุ่ม และเข้าเช็คอินที่เคาน์เตอร์การบินไทย เพื่อจะบินไปต่างประเทศเที่ยวบิน 5 ทุ่มกว่า

สุวรรณภูมิวันนี้ดูแปลกไป เพราะมีตำรวจ และรปภ.มาเดินเยอะกว่าปกติ ชั้น 4 เปิดแค่ 2 ประตูคือประตู 5 และ 10

ประมาณ 2 ทุ่ม การท่าฯ ก็ปิดประตูทั้งหมดของชั้น 4 ทุกคนมองออกไปข้างนอก กองกำลังของพันธมิตรกำลังเดินเท้าขึ้นมา หลังจากที่ได้ปิดเส้นทางการจราจรเข้าสนามบินตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา

ประมาณ 20.40 น. (ถ้าจำไม่ผิด) มีเสียงโห่ร้องในอาคารผู้โดยสาร เป็นพันธมิตรที่เข้ามาอยู่ในสนามบินมาตั้งนานแล้ว ไม่ใส่เสื้อเหลือง มาเดินปะปนอยู่กับผู้โดยสาร พอกองกำลังส่วนใหญ่มาถึงประตู พวกเขาก็โห่ร้องขึ้นอีกครั้ง แล้วก็เปิดประตูให้กองกำลังส่วนใหญ่เดินเข้ามา ตำรวจที่มาประจำอยู่ที่นั้นก็ปล่อยให้เข้ามาโดยไม่มีการปะทะกัน ตำรวจมีแค่โล่กับกระบองสั้น ๆ

ผมนึกว่าพวกเขาจะเดินเข้ามาทั้งหมด มาตั้งแถวในอาคารผู้โดยสาร มายึดอาคารนี้ทั้งอาคาร หรือบางส่วน

แต่... เปล่าเลย

เขาเปิดประตูเข้ามาได้ก็มายืนเก้ ๆ กัง ๆ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ พวกที่เคยแฝงตัวข้างในก็งง ทำไมเปิดประตูแล้วไม่เข้ามา พวกที่เดินเข้ามาแล้วก็ถูกเรียกกลับออกไป เดินเข้า ๆ ออก ๆ อยู่พักใหญ่ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ จนเกือบ 3 ทุ่มก็พากันร้องเฮและวิ่งเข้ามาในอาคาร ผู้โดยสารนับร้อยที่อยู่ในอาคาร พากันวิ่งหนีไปอยู่ด้านใน ติดกับจุดตรวจสัมภาระของผู้โดยสารขาออกในประเทศ

แต่... เขาไม่วิ่งเข้ามาทั้งหมด

เขาเข้ามาแค่ประมาณ 100 คน วิ่งมาได้สักประมาณ 50 เมตร ถึงตรงกลางพื้นที่เช็คอิน ก็หยุด เพราะไม่รู้จะวิ่งไปไหน เพื่อนก็ไม่วิ่งตามมา

ก็เลยยึดพื้นที่อยู่แค่นั้น

ผู้โดยสารที่วิ่งไปหลบ ก็ค่อย ๆ เดินออกมา ไม่รู้ว่าพันธมิตรจะทำอะไรต่อไป ฝ่ายพันธมิตรก็เดินไปเดินมา เข้าห้องน้ำบ้าง พูดคุยกันบ้าง แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากภายนอกเริ่มมีการปราศรัย

ผมเริ่มสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรครั้งนี้ ใครเป็นผู้นำ มีวัตถุประสงค์อย่างไร มีแผนอย่างไร มีการตระเตรียมคนที่จะนำกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กันในการบุกยึดสนามบินหรือไม่

เพราะสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผมนั้นเป็นแค่การกระทำของอันธพาลอิสระที่มารวมกลุ่มกัน ทำอะไรก็ได้ให้มันดูรุนแรง แต่ทำกันแบบไม่มีแผน ใครนึกอยากจะทำอะไรทำ ไม่รู้ว่าจะยึดสนามบินได้ง่ายขนาดนี้ พอยึดได้แล้วเลยไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ

ศรัทธาที่ผมเคยมีต่ออุดมการของพันธมิตร หดหายไปเยอะ

21.40 น. มีประกาศกระจายเสียงว่าเพื่อความปลอดภัย ขอให้ผู้โดยสารและบุคคลที่อยู่ในอาคารฯ ออกจากอาคารฯ ทันที โดยใช้ประตู 4 และ 8 ที่ชั้น 1

ผมต้องตัดสินใจแล้วว่าจะกลับออกไปข้างนอก หาทางกลับบ้าน หรือจะเข้าด่าน ตม. เผื่อจะได้บินในคืนนี้
ติดตามตอนต่อไป

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

คณิตศาสตร์เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์

ขอสะกิดมุมเล็ก ๆ ในความคิดของผม

สมัยมัธยมปลายผมคิดว่าวิทยาศาสตร์แยกเป็น 3 สาขาที่เด่นชัด คือฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา

เป็น 3 ทางที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน

แต่ยิ่งเรียนสูงขึ้น ผมก็ยิ่งเห็นความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เริ่มได้ยินคำว่า phyical chemistry, biochemistry

ประมาณปี 2543 ได้รู้จักศาสตร์ใหม่คือ molecular biology และได้เรียนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในเวลาต่อมา

molecular biology ทำให้ผมเริ่มมองเห็นว่าปรากฏการณ์ทางชีววิทยาหลาย ๆ อย่าง สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากโมเลกุลของสารใด ทำปฏิกิริยากับโมเลกุลใด

โรค thalassemia เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก

โรคนี้ได้ชื่อมาจากรากศัพท์กรีกว่า thalassa ซึ่งแปลว่าทะเล เพราะเป็นโรคโลหิตจางที่พบมากแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน ความรู้ในระยะแรก ยังเป็นเพียงความรู้ระดับชีววิทยา คือจำแนกโรคได้ บอกอาการของโรคได้ วินิจฉัยได้ รักษาตามอาการได้ระดับหนึ่ง และระบุได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม

ต่อมาเราก็รู้ว่าโรคนี้ต่างกับโลหิตจางชนิดอื่น ๆ (เช่นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, จากพยาธิปากขอ) ตรงที่มันมีความผิดปกติที่โมเลกุของฮีโมโกลบิน ตรงนี้เป็นความรู้แบบ biochemistry

ต่อมาเราก็เจาะลึกต่อไปอีกว่าฮีโมโกลบินโดยปกติประกอบด้วยโปรตีน 4 ก้อน มาประกอบกันเป็นลูกบอลกลม เรียกว่าเป็นโครงสร้างระดับจตุตถภูมิ (quaternary structure) วิธีการบิดตัวของโปรตีนแต่ละก้อนจัดเป็นโครงสร้างระดับตติยภูมิ (tertiary structure) ลึกลงไปอีก ในโครงสร้างย่อย ๆ เหล่านั้นบางท่อนมีโครงสร้างแบบเกลียว (alpha-helix) อันนี้เป็นระดับทุติยภูมิ (secondary structure) และย่อยจนถึงลำดับกรดอะมิโนทั้งหมดคือระดับปฐมภูมิ (primary structure) การศึกษาถึงขั้นนี้เป็นระดับ molecular biology แล้ว

เมื่อทำการศึกษายีนของฮีโมโกลบิน และศึกษาถึงการกลายพันธุ์ของมันจนทำให้คนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย จึงเป็นการศึกษาในวิชา molecular genetics

แต่โปรตีนที่ผิดปกติ ทำให้หน้าที่ของฮีโมโกลบินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราต้องศึกษาในระดับ physical chemistry คือศึกษาไปถึงว่าโมเลกุลของ heme ซึ่งเป็นสารประกอบเล็ก ๆ อันหนึ่งที่อยู่ภายในอ้อมกอดของโปรตีน 4 หน่วยย่อยของฮีโมโกลบิน โดย heme จะมีอะตอมของเหล็กเอาไว้ยึดเหนี่ยวออกซิเจนอีกที กลายเป็นที่มาว่าฮีโมโกลบินนำพาออกซิเจนไปได้อย่างไร และเมื่อเกิดโรคธาลัสซีเมียขึ้นมาทำให้หน้าที่ในการนำพาออกซิเจนเปลี่ยนไปอย่างไร หรือทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นลงได้อย่างไร

ลึกลงไปมากกว่า physical chemistry เราอาจจะไปเพ่งมองพันธะใดพันธะหนึ่ง คำนวณแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม แปลออกมาเป็นความน่าจะเป็นที่ออกซิเจนจะถูกตรึงอยู่กับโมเลกุลของฮีโมโกลบิน กลายเป็น atomic physics และอนาคตอาจจะไปถึงระดับ quantum physics ก็ได้

และที่ขาดไม่ได้คือคณิตศาสตร์ที่จะใช้คำนวณแรงและความน่าจะเป็น

ดังนั้นจากสมการคณิตศาสตร์ เราค่อย ๆ ถอยกลับออกมาที่ quantum physics, atomic physics, physical chemistry, molecular genetics, molecular biology, biochemistry และ biology จากสิ่งไม่มีชีวิตคืออะตอม กลับขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตคือร่างกายมนุษย์

ดังนั้น ร่างกายมนุษย์จึงมีสมการคณิตศาสตร์นับล้านไหลอยู่ในกระแสเลือด แทรกในทุกเนื้อเยื่อ ทุกอวัยวะ

นอกจากนี้ จากการสังเกตพบว่าโรคนี้เกิดขึ้นในแถบที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อกันว่าเป็นวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เนื่องจากเชื้อมาลาเรียมันเป็นปรสิตที่ฝังตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง ร่างกายจึงไม่สามารถกำจัดได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกัน จึงต้องกำจัดเชื้อเหล่านี้ด้วยการฆ่าตัวเอง คือทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นลง วิธีการหนึ่งที่ร่างกายเลือกใช้คือการกลายพันธุ์ยีนฮีโมโกลบิน ซึ่งน่าจะมีหลายพันวิธี แต่วิธีที่ทำให้ผู้กลายพันธุ์เหล่านั้นอยู่รอดเหลือแค่ไม่กี่ร้อยวิธี ก็คือ Type ต่าง ๆ ของโรคธาลัสซีเมียนั่นเอง โรคธาลัสซีเมียจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราใช้คณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Genetic Algorithm (ซึ่งเป็นศาสตร์ที่สร้างมาจากการกลายพันธุ์ของยีน) ผนวกกับความรู้วิชาวิศวกรรมโปรตีน (protein engineering) ในการทำนายโครงสร้างและการทำงานของฮีโมโกลบิน เราอาจจะเห็นแนวโน้มของวิวัฒนาการมนุษย์ในอีก 1 ล้านปีข้างหน้าก็ได้

คณิตศาสตร์จึงใช้อธิบายปรากฏการณ์อะไร ๆ อีกมากมายในระดับใหญ่กว่าตัวเรา ใหญ่กว่าสังคม ใหญ่กว่าโลก ใหญ่ไปจนถึงระดับเอกภพ

ผมจึงพูดว่าคณิตศาสตร์เป็นแก่นของวิทยาศาสตร์

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Forest Model กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ผมขอออกตัวก่อนว่าเรื่อง Forest Model นี้ไม่ใช่ความคิดของผมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการนำความคิดของผู้อื่นมาต่อยอดเท่านั้น


ผมอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง (น่าเสียดายที่จำชื่อหนังสือไม่ได้) บอกว่าการทำงานในองค์กรก็เหมือนกับต้นไม้ เรามีงานส่วนหนึ่งที่เป็นของเราเองไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ หนึ่งต้นก็มีหนึ่งลำต้น ของใครของมันไม่เกี่ยวกัน


กับงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งเราต้องประสานงานกับบุคคลอื่นโดยโครงสร้างองค์กร เปรียบเสมือนกิ่งก้านของต้นไม้ ซึ่งยื่นออกไปสอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียงกัน


ผมไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนั้น แต่ผมหยิบไอเดียนั้นมาคิดเทียบกับการทำงานจริง แล้วผมก็พบว่ามันอธิบายอะไรหลายอย่างได้ดีทีเดียว


คนบางคนที่ทำงานแบบต้นสัก คือสูงชลูด กิ่งก้านน้อย ไม่ค่อยสอดประสานกับคนอื่น ได้เนื้อไม้ชั้นดี หมกมุ่นเพื่อทำงานของตัวเองให้เป็นเลิศ


คนบางคนทำงานแบบเถาวัลย์ คือไม่ค่อยมีลำต้นของตนเอง หรือถ้ามีก็เป็นลำต้นที่อ่อนแอ ไม่สามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง แต่เก่งด้านสอดประสานกับคนอื่น สามารถแผ่ขยายตัวเองไปได้ไกล คนแบบนี้ชอบการเข้าสังคมมากกว่าการเพ่งทำงานของตัวเอง


คนบางคนเหมือนต้นหญ้า คือลำต้นก็ไม่มี สอดประสานได้กับแค่ต้นหญ้าที่อยู่ข้างเคียง เติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่


คนบางคนเหมือนต้นมะม่วง ลำต้นแข็งแรง กิ่งก้านแผ่ขยาย สอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียง แถมยังออกผลให้เป็นอาหารกับคนอื่น ๆ อีก


ผมมองดูคนรอบข้างผมทีละคน ๆ แล้วก็คิดตามไปว่าคนคนนี้เหมือนต้นอะไร แล้วผมก็ได้พบอะไรแปลก ๆ ผมได้เจอคนบางคนที่สามารถสื่อสารข้ามไปอีกแผนกหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่งานของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอีกคนหนึ่งเลย มารู้ทีหลังว่าบางคนเป็นเพื่อนเรียนมาด้วยกัน บางคนเป็นญาติกัน


ตรงนี้แหละที่ model ต้นไม้อธิบายไม่ได้ ผมจึงคิดต่อยอดออกไป


ความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับต้นไม้ในรูปแบบที่เรามองไม่เห็น - ระบบรากไงล่ะ


ต้นไม้สองต้นสามารถสื่อสารกันได้ในรูปแบบที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจนกว่าเราจะขุดดินลงไปสำรวจระบบรากดู เหมือนคนสองคนที่ผังองค์กรไม่ได้บอกเลยว่าเขาเกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เมื่อขุดไปดูในประวัติของเขาแล้วจึงพบความเกี่ยวข้องกัน


ระบบกิ่งก้านที่สอดประสานกันเป็น formal relationship
ระบบรากที่สอดประสานกันเป็น informal relationship


ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารองค์กร โดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์


บางทีเราอาจคิดว่าต้องตักเตือนพนักงานคนหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผ่านหัวหน้าแผนก
แต่บางทีถ้าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง อาจฝากบอกญาติของเขาที่อยู่อีกแผนกหนึ่งว่าให้เขาระมัดระวังการกระทำให้มากกว่านี้ - มันดูนุ่มนวลกว่าและไม่ค่อยเป็นทางการ บางทีอาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการเรียกมาตักเตือนโดยตรงเสียอีก


ผมเรียก model ใหม่นี้ว่า Forest Model คือองค์กรเปรียบเสมือนป่าไม้ มีต้นไม้หลากหลายชนิด มีชนิดลำต้นแข็งแรงกับลำต้นอ่อนแอ มีสูงชลูดกับร่มใบแผ่กว้าง มีพวกเลื้อยเหมือนเถาวัลย์ มีต้นหญ้ากอเล็ก ๆ มีกาฝากเกาะบนต้นไม้ใหญ่ มีที่ออกดอกสีสวยกลิ่นหอม มีที่ออกผลเป็นอาหารให้กับชาวโลก และที่สำคัญคือพืชทุกชนิดมีระบบรากที่สื่อสารกันได้ (ถ้าใครได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ rhizosphere คือโลกของรากไม้จะทราบว่าพืชมีการสื่อสารผ่านระบบรากด้วยการหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมาจริง ๆ ไม่ใช่แค่การพูดเปรียบเปรย)


ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของป่าไม้ การจัดการองค์กรคือการจัดป่าไม้นี้ให้ร่มรื่น และสมดุล สวนป่าแห่งนี้ เราสามารถนำต้นไม้ใหม่มาปลูก ขุดต้นไม้บางต้นทิ้งไป ย้ายต้นไม้บางต้นไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ทั้งกลายเติบโต และทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่างให้เป็นสวนป่าที่ตรงกับ concept ขององค์กรของเรา


ลูกค้าคือคนหรือสัตว์ป่ที่เดินเข้ามาในป่าไม้ของเรา บ้างก็มาอาศัยร่มเงา (มาซื้อบริการ) บ้างก็มาเก็บผลไม้ไปรับประทาน (มาซื้อสินค้า) ถ้าเราจัดสวนป่าของเราได้ดี ลูกค้าก็จะกลับมาหาเราเป็นประจำ


สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจและวางใจเป็นกลางว่าป่าไม้ต้องมีพืชหลากหลายชนิด แต่ละชีวิตต่างก็มีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง จะให้มีแต่ต้นมะม่วงอย่างเดียวก็เป็นสวนผลไม้ไม่ใช่ป่า


ในสายตาของผม diversity และ relationship จึงเป็นคีย์เวิร์ดของการจัดการองค์กรตาม Forest Model (คราวนี้คำว่า relationship ได้ครอบคลุมคำว่า participation แล้ว - ไม่พลาดอย่างคราวก่อน)


ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ป่าของผมมีไส้เดือนเยอะ ๆ เพื่อช่วยพรวนดินทำให้ระบบรากเจริญเติบโต และไม่อยากมีไส้เดือนฝอยที่คอยกัดกินรากพืช


ขอจบด้วยรูปไทรงาม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สวนป่าที่รากกลายเป็นต้น ต้นกลายเป็นราก สืบต่อกันมากว่า 350 ปี นี่แหละองค์กรที่ไม่มีวันตาย

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

The 5th keyword is participation

ในการประชุมเกี่ยวกับนโยบายการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งผม "บังเอิญ" ได้รับเชิญไปประชุมด้วย

ผมเสนอคีย์เวิร์ด 4 คำคือ "สนองความต้องการของสังคม", "ชี้นำสังคม", "ประสิทธิผล" และ "ประสิทธิภาพ" ขอให้มี 4 คำนี้อยู่ในวิสัยทัศน์การบริการวิชาการ

บังเอิญในที่ประชุมแห่งนั้นมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งได้กรุณาเพิ่มเติมว่า ควรมีคีย์เวิร์ดอีกคำหนึ่งคือ "การมีส่วนร่วมของชุมชน"

ทันทีที่ผมได้ฟัง ผมก็รู้สึกหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

...รู้สึกตกใจที่เปิดความคิดของตัวเองให้มีช่องโหว่ขนาดใหญ่ คิดว่าคีย์เวิร์ด 4 คำจะครอบคลุมแล้ว แต่กลับขาดกระบวนการสำคัญของประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วม
...รู้สึกอุ่นใจที่ช่องโหว่นั้นได้ถูกปิดไว้อย่างรัดกุมและแข็งแรง
...รู้สึกประทับใจที่ได้รับการชี้แนะจากผู้ทรงคุณวุฒินั้นด้วยความเมตตา
...รู้สึกดีใจแทนมหาวิทยาลัยแห่งนั้นที่มีคนมาช่วยกันออกความคิดเชิงสร้างสรรค์

เสร็จจากงานประชุมครั้งนั้น ผมยังคิดถึง "คีย์เวิร์ดที่ห้า" อีกเป็นร้อยเป็นพันครั้ง

ผมรุ้สึกเหมือนที่ผ่านมาปิดตาข้างหนึ่งมาตลอด

ตอนนี้ได้เปิดออกแล้ว

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สามัคคีเหมือน (x+y)^2

เรื่องนี้คิดเอาไว้สิบกว่าปีแล้ว เห็นว่าน่าบันทึกเก็บไว้ จึงเอามาเขียนใน blog

ทุกคนก็รู้นะครับว่า (x+y)^2 = x^2 + 2xy + y^2

แต่ผมมองสูตรนี้ว่าเป็น synergy ที่เกิดจากความสามัคคี รวมพลังกัน

x ก็คือคนที่ 1, y ก็คือคนที่ 2

ถ้า x ทำงานคนเดียวก็ได้ x^2
ส่วน y ทำงานคนเดียวก็ได้ y^2
เมื่อนำงานของ 2 คนมารวมกันก็จะได้ผลลัพธ์เป็น x^2+y^2
แต่ถ้านำคน 2 คนมารวมทีมกันเพื่อทำงาน จะได้ผลงานเพิ่มขึ้นมาอีก 2xy

ถ้ามี z มาร่วมทีมด้วย จะได้ผลงานเพิ่มเท่ากับ 2xy + 2yz + 2zx
ถ้างานนั้นเป็นงานที่อาศัยการร่วมแรงร่วมใจมาก มันก็เป็นงานที่มีดีกรีมาก เป็นยกกำลัง 3 ยกกำลัง 4 ขึ้นไป

ผลงานที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมทีมก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก
เช่น (x+y)^3 = x^3 + y^3 + 3x^2y + 3xy^2
(x+y)^4 = x^4 + y^4 + 4x^3y + 6x^2y^2 + 4xy^3
...
ดังนั้นการรวมกันจะมีประโยชน์เพิ่มพูนแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่มาร่วมทีม และดีกรีของการร่วมกัน เช่น ร่วมมือ ร่วมหัว ร่วมใจ ฯลฯ

สมการนี้ช่วยเตือนเราว่า การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่จะต้องบริหารทีมให้เป็นด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง - ศิริกุล เลากัยกุล

หนังสือสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงเล่มสีเหลือง ผ่านตาผมไปเมื่อหลายเดือนก่อน ...แล้วก็ผ่านไป
ในวันนั้น ผมไม่คิดจะซื้ออ่านเพราะคิดว่าเป็นแค่หนังสือที่เขียนตามกระแส คือกระแสการสร้างแบรนด์ และกระแสของเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนหนังสืออีกหลาย ๆ เล่มในร้าน

จนกระทั่งวันที่ 10 ก.ค. 51 ที่งาน Industrial Mart ที่ผมได้ไปฟังสัมมนาของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล พอกลับมาพิษณุโลกผมรีบไปหาซื้อหนังสือเล่มนั้นทันที และเพิ่งอ่านจบไปไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง

การบรรยายของอาจารย์ศิริกุลได้ตอบปัญหาที่ผมคาใจอยู่ 2 ข้อคือ

1. ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำแค่พออยู่พอกิน แล้วจะแข่งขันในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างไร
2. ทำไมต้องสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง

เริ่มจากหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่มักน้อย ไม่ใช่สันโดษ ไม่ใช่ประหยัด ไม่ใช่จำกัดการเติบโต

แต่หลักการคือการสร้างภูมิคุ้มกันของธุรกิจตัวเองด้วยการทำพอเพียงแก่ตัวเอง และพอเพียงแก่เหตุผล โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือความรู้และคุณธรรม

ด้วยวิธีการนี้ ธุรกิจของเราจึงจะอยู่รอดในระบบทุนนิยมได้อย่างยั่งยืน - นี่คือคำตอบของปัญหาข้อที่ 1

อาจารย์ศิริกุลใช้แบรนด์เป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น - นี่คือคำตอบของปัญหาที่ 2

ผมไม่รู้ว่าอาจารย์ศิริกุลคิดเรื่องนี่ขึ้นมาได้ยังไง แต่ผมรู้สึกได้ถึง "ปิ๊ง" ของอาจารย์ในวินาทีที่จับ 2 กระแสมารวมกันได้ เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการใช้ปรัชญาเศรษฐิจพอเพียงเพื่อสร้างแบรนด์ (อย่างมีทิศทาง) และใช้แบรนด์นั้นกลับมาสร้างเศรษฐกิจที่พอเพียง (ยั่งยืน)

ประโยคสั้น ๆ ที่อธิบายคำว่า "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง" คือคำว่า THE POWER TO SAY 'NO' หมายถึงว่าเมื่อเรามีทิศทางการสร้างแบรนด์ที่มั่นคงแล้ว เราจะพร้อมปฏิเสธอะไรบางอย่างได้ บนเหตุผลของความพอเพียงของตัวเราเอง เช่นเราจะไม่ลงไปต่อสู้ในสงครามราคา เพราะเรารู้ว่าสินค้าเราเป็น premium product หรือสินค้าเรามีความแตกต่างกับสินค้าคนอื่นอยู่แล้ว, เราไม่รู้สึกตาลุกโชนเวลามีคนมาขอซื้อสินค้า big lot เพราะสินค้าเราเป็นสินค้า handmade ที่เน้นความประณีต เป็นต้น

หลักการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงของอาจารย์ศิริกุลมี 3 ห่วงคล้องกัน
1. ความรู้จักตนเอง และทำอย่างประมาณตน (อย่าทำเกินตน จะไม่ยั่งยืน)
2. ความมีเหตุมีผล
3. ภูมิคุ้มกัน - จากพนักงาน, ลูกค้า และคู่ค้า
ภายในกรอบของ 3 เงื่อนไขคือ
1. เงื่อนไขขององค์กร - เราเป็นใคร ภาพของแบรนด์เราคืออะไร (อย่าไปขี้ตามช้าง ถ้าเราไม่ใช่ช้าง)
2. เงื่อนไขความรู้
3. เงื่อนไขคุณธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อจะบรรลุถึง sustainable brand ในที่สุด

ผมคิดว่าศิลปะของการจัดการอยู่ที่การรู้จักตนเอง เพราะพวกเรามักจะหลงกันบ่อย ๆ เช่นเมื่อทุกคนพากันพูดเรื่อง ISO9000 ถ้าไม่ทำ ISO9000 ก็จะมีแต่คนมาถามเราว่าทำไมไม่ทำ แล้วเราก็ทำตามเขา โดยไม่รู้ว่ามันเหมาะกับองค์การเราหรือไม่ พอได้ ISO9000 มาแล้วก็สงสัยว่านอกจากเอกสารที่เพิ่มขึ้น, บุคลากรที่ต้องจ้างเพิ่มขึ้นแล้ว เราได้อะไรบ้างจากระบบ ISO9000 ทำไมปัญหายังเกิดขึ้นเหมือนเดิม

หลายองค์กรลืมที่จะใส่ความเป็นตัวเองลงไปในวิสัยทัศน์ ชอบเขียนตามแฟชั่น พอเริ่มทำงานก็สะดุดขาตัวเอง เพราะจะก้าวเท้าซ้ายตามนิสัยตัวเองก็ผิดวิสัยทัศน์ พอจะก้าวเท้าขวาตามวิสัยทัศน์ก็รู้สึกฝืนใจตัวเอง ทำไมเราถึงต้องอายที่จะเขียนวิสัยทัศน์ในแบบที่เราคิดและเป็นจริง ๆ ล่ะครับ?

วันนี้ ผมเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากขึ้น ด้วยความเมตตาของอาจารย์ศิริกุล ขอบคุณครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

1+1 =?

"หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับเท่าไร"

ผมได้รับโจทย์ข้อนี้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในการสัมมนาเรื่องบัณฑิตอุดมคติไทย ที่เชียงใหม่ มีอาจารย์จากหลายสถาบันเข้าสัมมนาร่วมกัน อาจารย์ที่เป็นวิทยากร (ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ, รศ.นพ.ไพโรจน์ วิทูรพาณิชย์ และคณะ) ท่านถามเราว่า 1+1 ได้เท่าไร ได้ 2, ได้มากกว่า 2, ได้น้อยกว่า 2, ได้ 1.5,ได้ 1, ได้ 0 หรือได้อนันต์ เพราะอะไร ให้พวกเราลองหาเหตุผลดูว่าบวกอย่างไรบ้างจึงจะได้คำตอบที่แตกต่างกันข้างต้น จากนั้นอาจารย์ก็ปล่อยให้พวกเราไปพัก แล้วให้กลับมานำเสนอหลังจากเบรก

อาจารย์ทุกท่านที่เข้าสัมมนาเลยไม่ค่อยเป็นอันกินกาแฟ เพราะต้องใช้ความคิดตีโจทย์ให้แตก ผมเองก็เช่นกัน ด้วยความบังเอิญ บวกกับบรรยากาศการสัมมนาแบบนักปรัชญา อารมณ์กวีของผมก็เลยผุดออกมาเป็นกลอน

หนึ่งบวกหนึ่งนี้หนอรอคำตอบ
คณิตชอบเป็นสองต้องวิถี
มากกว่าสองด้วยรู้รักสามัคคี
มักตระหนี่น้อยกว่าสองผิดคลองธรรม์

ไม่รวมมือได้หนึ่งเท่าตัวเก่า
รวมหัวเข้าหนึ่งจุดห้าน่าสร้างสรรค์
ถ้ารวมใจได้ผลลัพธ์นับอนันต์
สงบพลันคือศูนย์และปล่อยวาง

กลอนนี้อาจผิดเพี้ยนจากวันนั้นไปบ้าง เพราะเวลาก็ผ่านมานานแล้ว ที่จดไว้ก็หายแล้ว เลยต้องเขียนจากความจำ แต่น่าจะผิดเพี้ยนไม่เกิน 5 คำ

ในบทที่ 2 วรรคที่ 2 ตอนแรกผมแต่งว่า "รวมกันเข้าหนึ่งจุดห้านั้นน่าขัน" เพราะผมไม่รู้ว่าจะบวกยังไงถึงจะได้ 1.5 แต่ ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ วิทยากรในการสัมมนาครั้งนั้น ได้กรุณาชี้แจงว่าที่ท่านตั้งโจทย์ 1+1=1.5 นั้นมาจากแนวคิดของ Einstein ซึ่งเป็นคำอธิบายของทฤษฎีสัมพัทธภาพ คือนิวเคลียสของธาตุหนึ่ง รวมกับนิวเคลียสของอีกธาตุหนึ่งด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน แล้วได้นิวเคลียสของธาตุใหม่ที่หนักกว่าเดิม (คือ 1.5) และมวลที่หายไปกลายเป็นพลังงาน ตามสมการ E=mc^2 ดังนั้น ท่าน ศ.มณีวรรณ จึงบอกกว่า 1.5 นั้นไม่น่าขัน ผมจึงขออนุญาตแก้กลอนของผมเป็น "น่าสร้างสรรค์"

ส่วนบทที่ 2 วรรคที่ 1 มีคำว่า "ตัวเก่า" ซึ่งเป็นคำเมือง (ภาษาพื้นเมืองล้านนา) แปลว่าตัวเอง ตรงนี้ขออธิบายไว้เผื่อท่านผู้อ่านบางท่านไม่ทราบ

แต่วรรคที่ผมชอบที่สุดคือวรรคสุดท้าย ทีแรกผมตีโจทย์ 1+1=0 ว่ามันคือการสูญเสีย เสียเปล่า ไร้ประโยชน์ แต่เมื่อลองมองกลับกัน มองถึงความสมบูรณ์แบบของเลขศูนย์ มันกลับกลายเป็นความว่าง ความหลุดพ้น ผมจึงหักมุมจบกลอนในแบบที่ตัวเองชอบอย่างที่ปรากฏนั่นแหละครับ

ผมทึกทักเอาเองว่าเสียงปรบมือที่ผมได้รับในวันนั้น เป็นคำชมเชยให้กับวรรคสุดท้ายมากกว่าวรรคอื่น ๆ ผมว่ามันสวยงามนะ

จะว่าไปแล้ว หลังจากกลอนบทนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้แต่งกลอนอีกเลย ว่าง ๆ ต้องรื้อฟื้นฝีมือเสียบ้าง

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สมการความสุข

ผมจำได้คุ้น ๆ ว่าได้เรียนเรื่องสมการความสุขในวิชาสังคมศึกษา ม.4 และเป็นเรื่องที่ผมชอบ

สมการความสุขบอกว่า ความสุขเท่ากับสิ่งที่เรา"มี" หารด้วยสิ่งที่เรา "อยากมี"

เช่นเรา "อยากมี" ทรัพย์สิน 100 หน่วย แต่เรา "มี"ทรัพย์สินอยู่จริง 50 หน่วย เราก็มีความสุข 50%

แล้วทำยังไงถึงจะมีความสุขเต็มร้อยล่ะ มันมีอยู่ 2 ทาง

ทางแรกคือหาทรัพย์สินมาเพิ่มอีก 50 หน่วยกลายเป็น "มี" 100 หน่วย เราก็จะมีความสุขเต็มร้อย ถ้าหาได้มากกว่านี้ก็มีความสุขเต็มร้อย

ทางที่สองคือลดความ"อยากมี"ลงมา ถ้าลดได้เหลือ 75 หน่วย ความสุขก็จะเพิ่มเป็น 67% ถ้าลด "อยากมี" ได้เหลือ 50 หน่วย ความสุขก็จะเป็น 100% และถ้าลดลงไปอีกล่ะ?

ความสุขก็เกินร้อยน่ะสิ

สมการนี้จึงบอกกับเราว่า เราหาความสุขได้ 2 วิธี คือ "มี"ให้มากขึ้น หรือ "อยากมี"ให้น้อยลง

สมการนี้บอกด้วยว่าพระอรหันต์ ท่านมีความสุขเป็นอนันต์ เพราะความ "อยากมี"ของท่านเป็นศูนย์ เนื่องจากท่านละกิเลสสิ้นแล้ว จำนวนจริงหารด้วยศูนย์ก็ได้ค่าเป็นอนันต์

ผมกำลังสนใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงขอน้อมนำมาเชื่อมโยงกับสมการความสุขดังนี้

ในความเข้าใจของผม เมื่อเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่ได้พูดถึงการทำธุรกิจแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจะได้ "มี" น้อย ๆ
หากแต่เราต้องใช้ปัญญาเข้าควบคุมจิตตัวเองให้ "อยากมี" น้อย ๆ ต่างหาก

ดังนั้น ถ้าเราจะดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงควรเน้นไปที่การควบคุมสิ่งที่ "อยากมี" คือการเขียนแผนธุรกิจที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง สมเหตุสมผลและมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่การควบคุมสิ่งที่ "มี" นั่นคือขนาดของธุรกิจ

ผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยด้วยนะครับ เพราะแม้จะได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเข้าใจมากขึ้นจากการบรรยายเรื่อง Branding ของอาจารย์ศิริกุล เลากัยกุล (บริษัท ที่ปรึกษาแบรนด์บีอิ้ง จำกัด และผู้แต่งหนังสือ "สร้างแบรนด์อย่างพอเพียง") เมื่อ 3 วันที่แล้วนี่เอง

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

1% ที่คุณเลือกได้

ในห้องเรียนแคลคูลัสวันหนึ่ง ผมเขียนโจทย์บนกระดานให้นักเรียนดู
บรรทัดแรกถามว่า ลิมิตของ 0.99 ยกกำลัง n เมื่อ n เข้าใกล้ infinity เท่ากับเท่าไร
บรรทัดที่ 2 ถามว่า ลิมิตของ 1.01 ยกกำลัง n เมื่อ n เข้าใกล้ infinity เท่ากับเท่าไร
ทุกคนตอบถูกว่า บรรทัดแรกเท่ากับศูนย์ ส่วนบรรทัดที่สองเท่ากับ infinity

ความน่าสนใจของโจทย์ข้อนี้คือ 0.99 กับ 1.01 มันแตกต่างกันแค่ 2% แต่ให้คำตอบที่ต่างกันสุดขั้ว
เหมือนกับชีวิตของเราเลยครับ ถ้าเราทำดีได้แค่ 99% ของเมื่อวานนี้ เมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปี ความดีเราก็เป็นศูนย์
แต่ถ้าเราทำดีได้ 101% คือทำดีกว่าเมื่อวานนี้แค่นิดเดียว สุดท้ายความดีเราก็เป็นอนันต์

มันเป็น 1% ที่เราเลือกได้ว่าจะทำทางไหน ระหว่างดีกว่าเดิม 1% หรือ ด้อยกว่าเดิม 1%
ชีวิตเรา เราเลือกเอง

วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

หายใจเข้า...หายใจออก

หายใจเข้า...หายใจออก
เคยได้ยินมั้ยที่คนทั่วไปมักพูดว่า
"เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปฟอกเลือด และหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์"

ฟัง ๆ ดูเหมือนว่าร่างกายเราช่างมหัศจรรย์ สามารถเลือกที่จะหายใจเข้าเฉพาะออกซิเจน ทั้ง ๆ ที่อากาศเรามีออกซิเจนแค่ 21% เท่านั้น แล้วภายในเวลา 2-3 วินาทีเราก็สามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้ทั้งหมด แล้วก็หายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน ๆ ช่างเป็นเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบอะไรอย่างนี้
ทำไมไม่มีใครสงสัยว่า ไนโตรเจนตั้ง 78% หายไปไหน? ตอนที่หายใจเข้าไป เราสามารถใช้ออกซิเจนได้หมดจริงหรือ? เราหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ล้วน ๆ จริงหรือ? ไม่เหลือออกซิเจนซักนิดเลยหรือ?

ค้นคว้าอยู่พักหนึ่งแล้วผมก็พบว่า เราไม่ได้ "หายใจเอาออกซิเจนเข้าไป" แต่เราหายใจเอาอากาศเข้าไปเราไม่ได้ "หายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์" แต่เราหายใจออกมาเป็นอากาศที่มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนไนโตรเจน มีอยู่ทั้งในลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
มันก็เหมือนกับชีวิตเรานั่นแหละสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตมันมีทั้งเรื่องดี ๆ (ออกซิเจน) เรื่องร้าย ๆ (คาร์บอนไดออกไซด์) และเรื่องกลาง ๆ (ไนโตรเจน)ปนเปกํนเข้ามา เราไม่สามารถเลือกหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถเลือกให้สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรามีแต่เรื่องดี ๆ ได้ฉันนั้น

เรื่องดี ๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้ว บางอย่างก็ซึมซาบเข้ามาในชีวิตของเรา ช่วยทำให้เรามีชีวิต และมีชีวา

เรื่องดี ๆ บางเรื่องผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เราไม่มีเวลาพอที่จะดึงมันมาใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้ เป็นโอกาสดี ๆ ที่สูญเสียไปในชีวิตคนเรา เหมือนกับออกซิเจนที่อยู่ในลมหายใจออก

เรื่องกลาง ๆ ไม่ดีไม่ร้าย ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เหมือนไนโตรเจนซึ่งมันมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นส่วนใหญ่ซะด้วยสิ

เรื่องร้าย ๆ มันมีแค่นิดเดียวเอง (คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีแค่ 0.1% แต่ออกซิเจนมีมากถึง 21%) ตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ เราก็ต้องถ่ายเรื่องร้าย ๆ เหล่านี้ทิ้งไปจากชีวิตของเรา

มีคนเคยถามว่าถ้าเราหายใจเอาออกซเจนบริสุทธิ์เข้าไปแล้ว จะดีต่อร่างกายมั้ย คำตอบคือไม่ดี เราอาจตายได้ภายในเวลาไม่นาน เนื่องจากเกิดอาการ hyperventilation คือร่างกายไม่ยอมหายใจเพราะขาดคาร์บอนไดออกไซด์ หมายความว่าคาร์บอนไดออกไซด์นี่แหละคือสิ่งที่กระตุ้นให้เราหายใจ เมื่อขาดคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ไม่มีอะไรไปกระตุ้นร่างกายว่าต้องหายใจนะ ร่างกายก็หยุดหายใจ เกิดอาการเกร็งทั้งตัว และการผายปอดก็ไม่ช่วยอะไร เพราะผู้ป่วยจะต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่ออกซิเจน การปฐมพยาบาลจึงง่ายแสนง่าย ให้หายใจในถุง ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น แล้วผู้ป่วยจะกลับมาหายใจได้เอง

มันเหมือนกับชีวิตคนอีกนั่นแหละ มันต้องกระตุ้นด้วยเรื่องร้าย ๆ จึงจะทำให้ชีวิตนี้มีแรงสู้ต่อไป ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่า "ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นไป ชีวิตไม่ดิ้นก็สิ้นใจ" ถ้ามีแต่เรื่องดี ๆ เราก็จะเฉาตายเพราะขาดแรงกระตุ้น

คนที่อยู่ในที่อับอากาศแล้วตาย เขาไม่ได้ตายเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ตายเพราะคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ก๊าซนี้มีความน่ากลัวตรงที่มันมีมวลโมเลกุล 28 ใกล้เคียงกับอากาศ (มวลโมเลกุลเฉลี่ยประมาณ 29) มันจึงล่องลอยไปได้ทุกที่ที่มีอากาศ ไม่กองกับพื้นอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ (มวลโมเลกุล 44) ที่น่ากลัวกว่านั้นคือมันมีรูปร่างเป็น 2 อะตอมเหมือนออกซิเจน (O2) มันจึงสามารถจับกับฮ๊โมโกลบินได้อย่างแนบแน่น และแน่นกว่าออกซิเจน มันจึงจับแล้วไม่ปล่อย ทำให้ฮีโมโกลบินโมเลกุลนั้นหมดโอกาสที่จะจับกับออกซิเจนอีก เท่ากับว่าหมดอนาคตแล้วสำหรับฮ๊โมโกลบินโมเลกุลนั้น รอเวลาให้ร่างกายกำจัดเท่านั้น

ชีวิตคนเราก็เป็นอย่างนั้น เรื่องที่ร้ายที่สุด เจ็บที่สุด มักจะมาในรูปที่คล้ายคลึงกับข่าวดีมากที่สุด เรานึกว่าเป็นเรื่องดี ก็รับเข้ามา แต่พอเข้ามาแล้วจับกับเราแน่น ตราตรึงฝังใจของเรา แต่ทำให้เราหายใจไม่ได้ จะคายออกมันก็ไม่ยอมออก มันทำให้ฮีโมโกลบินดี ๆ ของเรากลายเป็น คาร์บอกซีฮีโมโกลบิน ที่มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทางเดียวที่จะแก้ปัญหามันได้ คือใช้ม้ามของเรานี่แหละ กำจัดเม็ดเลือดหมดอายุเม็ดนั้นทิ้งซะ แล้วเอาฮีโมโกลบินเหล่านั้นไปทิ้งทะเล (ทะเลคอห่าน)นั่นคือวิธีที่ดีที่สุด

ชีวิตยังไม่สิ้นก็ดิ้นไป
ชีวิตไม่ดิ้นก็สิ้นใจ