วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2552

Language is a plus (or a must)

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศเบลเยียม โดยบินผ่านเมืองแฟรงค์เฟิร์ท ประเทศเยอรมนี ทำให้ผมได้เห็นความแตกต่างของ 2 ประเทศนี้อย่างชัดเจน

ประเทศเบลเยียมมีภาษาราชการ 3 ภาษาคือฝรั่งเศส, เฟลมมิช (ดัตช์) และเยอรมัน ส่วนเยอรมนีมีภาษาเดียวคือภาษาเยอรมัน

ในระยะเวลา 4 วันในเบลเยียม ผมไม่เจอใครที่พูดอังกฤษไม่ได้ แต่ 1 วันในแฟรงค์เฟิร์ทผมได้เจอคนพูดอังกฤษไม่ได้มากกว่า 3 คน ทั้ง 3 คนเป็นคนเยอรมัน และเป็นคนขายของในตลาดนัดริมแม่น้ำ (ซึ่งควรจะเป็นอาชีพที่พูดอังกฤษได้มากที่สุด เพื่อเอาไว้พูดกับลูกค้าต่างชาติ) ส่วนคนเอเชียที่อาศัยในแฟรงค์เฟิร์ท พูดอังกฤษได้ดี

เนื่องที่เบลเยียมมีภาษาราชการถึง 3 ภาษา ซึ่งต้องเรียนในโรงเรียน การจะเรียนภาษาที่ 4 จึงเป็นเรื่องง่าย และภาษาที่ 4 ที่คนเบลเยียมนิยมจึงเป็นภาษาอังกฤษเพราะจะช่วยในการติดต่อสื่อสารได้อีกหลายประเทศ

พวกผมดำอย่างเราเจอฝรั่งพูดอังกฤษได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าใครได้ไปเยือนเยอรมันแล้วจะทราบว่าไม่ใช่ผมทองทุกคนหรอกที่จะพูดอังกฤษได้ เหตุการณ์ในเยอรมันทำให้ผมนึกย้อนกลับไปชื่นชมฝรั่งเบลเยียมที่เขาตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษแม้จะไม่ใช่ภาษาราชการของเขา และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีพอที่คนยุโรปจะเลือกเบลเยียมเป็นสำนักงานใหญ่ของ EU

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว เบลเยียมยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของยุโรป เพราะมีเมืองท่าสำคัญคือ Antwerp ด้านตะวันตกออกสู่ทะเล, ด้านเหนือเชื่อมไปถึง Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์ เมืองท่าสำคัญอีกเมืองหนึ่งของยุโรป ด้านตะวันออกเชื่อมกับเยอรมันและโปแลนด์ ส่วนทิศใต้เชื่อมต่อกับฝรั่งเศสและสเปน เมื่อมองดูรถบรรทุกบนไฮเวย์ จึงพบรถบรรทุกสารพัดสัญชาติบนถนนของประเทศนี้

ในสายตาของผม เบลเยียมมีลักษณะเหมือนสิงคโปร์ คือเป็นประเทศขนาดเล็ก (แต่พื้นที่สิงคโปร์เล็กกว่าเบลเยียมประมาณ 40 เท่า แต่เบลเยียมยังเล็กกว่าไทยถึง 17 เท่า) ประชากรไม่มาก (สิงคโปร์เกือบ 5 ล้าน, เบลเยียมประมาณ 10 ล้าน) ไม่มีภาษาของตัวเอง, มีภาษาราชการหลายภาษา และมีเมืองท่าสำคัญ คนเบลเยียมกับคนสิงคโปร์จึงมีนิสัยที่เป็นมิตรเหมือนกัน ใครได้คุยกับคน 2 ประเทศนี้ จะรู้สึกสะดวกสบายใจกับความเป็นมิตรของเขา เราสามารถคุยปนกันหลาย ๆ ภาษาได้ และเขาพร้อมที่จะตอบเราได้หลายภาษาด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของคนที่สื่อสารได้หลายภาษา คือเขาจะเป็นนักฟังที่ดี และเป็นคนที่เข้าใจจิตใจคนอื่นได้เป็นอย่างดี เพราะต่างภาษากันจะมีวิธีการถ่ายทอดโลกทัศน์ออกมาเป็นคำพูดที่แตกต่างมุมมองกัน (ตามหลักวิชา psycholinguistics) เหมือนว่าเขาได้อีก 1 ภาษาเพิ่มขึ้นมาคือภาษาใจ เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของคน 2 ประเทศนี้

สำหรับคนทำงานในเบลเยียม การพูดได้ 4 ภาษาเป็นเรื่องปกติ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นภาคบังคับ (must) ก็ได้ ถ้าใครพูดได้เกิน 4 ภาษาจึงจะเรียกว่า เป็นแต้มบวก (plus)

ในช่วงที่เดินทางระหว่างบรัสเซล (brussels) กับบรูจ (bruges) ผมได้คุยกับคนขับรถแท็กซีชื่อ โทนี ถามเขาว่าเขาพูดได้กี่ภาษา เขาบอกว่าพูดได้ 5 ภาษา ก็คือ 4 ภาษาบังคับ บวกกับอีกหนึ่งภาษาญี่ปุ่น ผมก็เลยซักต่อไป เขาบอกว่าเขาดูหนังเรื่อง "โชกุน" และชอบมาก จึงอยากจะเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น เขาจึงเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งต่อมากลายเป็นแต้มบวกสำหรับงานของเขา คือเมื่อมีลูกค้า VIP จากญี่ปุ่นติดต่อมาเช่ารถจากบริษัทของเขา เขาก็จะเป็นคนขับรถให้ญี่ปุ่นเสมอ งานจึงมีไม่เคยขาด

ผู้บริหารอีกท่านหนึ่งที่ผมได้รู้จัก พูดได้ถึง 7 ภาษา คือ 4 ภาษาบังคับ บวกกับ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เพราะท่านต้องทำงานติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป

อีก 1 ราย ผมไม่ได้เจอ แต่โทนีเล่าให้ผมฟังว่าชายคนนั้นอายุ 41 ปี พูดได้ 42 ภาษา! และเหตุผลในการเรียนภาษาของเขาคือเพื่อฝึกสมอง ไม่ใช่เพื่อติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่ไหน

ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมาตื่นตัวเรื่อง bilingual school และเพิ่งเริ่มพูดกันว่าเด็กไทยน่าจะพูดภาษาที่ 3 แต่ที่เบลเยียม ถ้าคุณจะสมัครงาน คุณต้องโฆษณาตัวเองว่าพูดได้กี่ภาษา และอย่าหลงภาคภูมิถ้าคุณพูดได้แค่ 5 ภาษา เพราะยังมีคู่แข่งอีกเยอะ

โชคดีที่โทนีไม่ถามย้อนกลับว่าแล้วผมล่ะพูดได้กี่ภาษา ผมคงอายที่จะตอบว่าที่สื่อสารกันเข้าใจดีมีแค่ 3 ภาษาคือไทย, อังกฤษ และลาว

ส่วนภาษาจีนแต้จิ๋วพอสื่อสารได้ แต่ก็ใช้ได้เฉพาะในไทย เพราะคนจีนในจีนที่มี 1.3 พันล้านคน พูดแต้จิ๋วได้แค่ 3 ล้านคน ใน 4 อำเภอของจังหวัดเฉาโจว (chaozhou) เจอคนจีน 400 คน จะพูดแต้จิ๋วได้แค่คนเดียว

ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ผมก็ได้แค่งู ๆ ปลา ๆ ใช้ทำมาหากินไม่ได้

อย่าไปนับภาษาดัตช์, เยอรมัน และเกาหลีที่ได้แค่ Yes, no, O.K., thank you. (ต่ำกว่าระดับ งู ๆ ปลา ๆ)

กลับจากยุโรปคราวนี้ผมรู้สึกประทับใจความเป็นชาวเบลเยียม และทำให้ผมรู้สึกเลยว่าต้องเรียนภาษาอีกมาก แค่ 3 ภาษายังน้อยเกินไป