วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ญ.หญิงโสภา

ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับ ญ.หญิง กับ ย.ยักษ์ในภาษาไทย เทียบกับ ย.ยุง และ ย.ยา ในภาษาลาว จากบล็อกของพี่ชาย http://thep.blogspot.com/2011/02/esaan-language-tidbits.html

อ่านแล้วก็อดต่อความเกี่ยวกับ ญ.หญิง ไม่ได้ อันที่จริงอยากจะเขียนเรื่อง "นิรุกติศาสตร์ของ ญ.หญิง" แต่ภูมิความรู้ยังไม่ถึง จึงขอเขียนแบบเท่าที่รู้ก่อน

ญ.หญิงที่ผมจะกล่าวถึงคือ ญ.หญิง พยัญชนะตัวที่ 10ในภาษาสันสกฤตคือ ज्ञ และภาษากรีก, ละติน, ฝรั่งเศส (ตระกูลอินโด-ยูโรเปียน) คือ gn

ถ้าเราเปิดดูพจนานุกรมไทยคำว่า "ญาณ" จะเขียนว่ามาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ชฺญาน แต่พอค้นดูในพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ก็พบว่าเขาเขียนว่า ज्ञान ถ้าถอดตัวอักษรออกมาก็เป็นคำว่า "ญาน" ซึ่งไม่ได้ควบช.ช้าง กับ ญ.หญิงแบบที่เขียนในพจนานุกรมไทย มีความหมายว่าความรู้ แต่วิธีการอ่านออกเสียงค่อนข้างยาก ใน wikipedia อ่านว่า Jñāna หรือ gñāna แต่คนทั่วไปนิยมเขียนว่า Gyan http://en.wikipedia.org/wiki/Gyan_(sanskrit)

แต่มีคนอินเดียเคยบอกว่าตัวอักษรนี้เลิกใช้ไปแล้ว เมื่อเปิดในพจนานุกรมภาษาฮินดี ก็ไม่มีคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรนี้แล้ว คงเหมือน ฃ.ฃวด กับ ฅ.ฅนของไทยที่เลิกใช้แล้ว แต่คนอินเดียทุกคนเป็นอันรู้กันว่าตัว ญ.นี้คือ ญ.ญาน ที่แปลว่านักปราชญ์ ผมก็เลยถามเขาต่อว่าอ่านออกเสียงอย่างไร สอบเสียงกันหลายรอบจนกระทั่งได้รู้ว่า อ่านออกเสียงว่า กฺญาน คือต้องอ่านออกเสียง ก.ไก่กับ ญ.หญิงให้เป็นเสียงเดียวกัน หรือลองนึกถึงคำว่า จักรยาน แต่อ่านออกเสียงแบบลาวว่า จักกะยาน โดย ย.ตัวนี้อ่านเป็นเสียง ญ.หญิง คือเป็นเสียงนาสิก (เสียงนาสิกคือถ้าบีบจมูกแล้วเสียงต้องเปลี่ยน ถ้าบีบจมูกแล้วอ่านคำว่า "ยาน" ได้เสียงเหมือนกับไม่บีบจมูกแสดงว่าออกเสียงผิด) อ่าน กะยาน หรือ กญาน เร็ว ๆ จนเกือบคล้ายคำว่า เกียน ลากเสียงยาว ๆนั่นแหละคือคำว่า Gyan ที่อ่านแบบอินเดีย

สรุปว่า ญ.หญิงในภาษาสันสกฤตมีความหมายในทางที่เกี่ยวกับความรู้ เกี่ยวกับนักปราชญ์ และเนื่องจากภาษาสันสกฤตกับภาษาละตินมีรากเหง้าเดียวกัน ก็น่าสงสัยว่าภาษาละตินคงจะมี ญ.หญิง อยู่เหมือนกัน

ญ.หญิงในภาษาละตินน่าจะเป็นตัวอักษร "gn" เช่นคำว่า gnosis ในภาษากรีกและละติน ที่แปลว่าความรู้ ซึ่งเป็นรากของคำในภาษาอังกฤษหลายคำเช่น diagnosis ("เรียนรู้แบบแยกส่วน" แปลว่าวินิจฉัย), prognosis ("รู้ก่อน" แปลว่าพยากรณ์) และคำที่คุ้นที่สุดก็คือคำว่า know ที่แปลว่ารู้นั่นเอง ทำไมคำนี้ต้องมีตัว k อยู่หน้าตัว n ก็เพราะเมื่อก่อนมันเคยเป็นตัวอักษรเดี่ยวตัวเดียวมาก่อน พอตัวอักษรนี้หายไป ก็เลยเอาตัวอักษรปัจจุบัน 2 ตัวไปใช้แทน เช่นเดียวกับ ch และ sh

แล้วเราจะอ่านออกเสียง gn นี้อย่างไร คำแรกที่ผมนึกถึงคือคำว่า cognac ที่สมัยเด็ก ๆ ผมเคยอ่านว่า "ค็อกแหน็ก" ต่อมาถึงรู้ว่าเขาเรียกว่า "คอนหยัก" และคนฝรั่งเศสอ่านว่า "คอญัค" ที่อ่านได้อย่างนี้ก็เพราะ gn เคยเป็นตัวอักษรเดี่ยวที่มีเสียง ญ. นั่นเอง นอกจากนี้เรายังพบเสียงแบบนี้ในคำว่า champagne แชมเปญ และ Cologne โคโลญ ส่วนคำว่า signal ที่อังกฤษอ่านว่า ซิกนัล นั้นฝรั่งเศสอ่านว่า สิญัล พอถึงเมืองไทยกลายเป็นคำว่าสัญญาณ ซึ่งคงรากของ ญ.หญิงไว้อย่างสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ ญ.หญิงในภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน จึงเป็นตัวอักษรที่ดูดีมีชาติตระกูล คือเป็นอักษรที่แสดงถึงความรู้ ปัญญา ญาณทัสนะ นักปราชญ์ หรือวิญญูชน

แต่พอมาถึงภาษาไทย-ลาวแล้วไม่เรียกว่า ญ.ญาณ แต่เราเรียก ญ.หญิง เพราะในภาษาไทยโบราณ หรือภาษาลาว ภาษาล้านนา เรียกผู้หญิง ว่าแม่ญีง ซึ่งบังเอิญเป็นเสียงนาสิกเหมือนกัน จึงต้องนำพยัญชนะตัวนี้มาใช้ในการออกเสียง จะใช้ ย.ยักษ์มาใช้ออกเสียงแทนไม่ได้ คำไทยอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ญ.หญิง เช่นคำว่า ใหญ่ หญ้า ญวน (ซึ่งเป็นคนละชนชาติกับยวนที่หมายถึงคนในอาณาจักรโยนก)

ที่ผมรู้สึกสงสัยคือเสียง ญ. นี้ไม่มีปรากฏในภาษาจีน หรือญี่ปุ่น ผมก็เลยตั้งทฤษฎีเอาเองว่าเสียง ญ.หญิงในภาษาไทย หรือ ย.ยุง ในภาษาลาวเป็นเสียงของภาษาดั้งเดิมของเราที่นี่ ไม่ได้ยืมมาจากภาษาอื่น หรืออื่นที่ว่าก็อาจจะแค่ขอม ไม่ได้ยืมมาจากอินเดียหรือจีนเหมือนคำส่วนใหญ่ในภาษาไทย ด้วยเหตุนี้เมื่อผมมองตัวอักษร ญ.หญิงผ่านแว่นตาของผม เลนส์ข้างซ้ายผมจะมองเห็นนักปราชญ์อินเดียและยุโรป ส่วนเลนส์ขวาผมจะมองเห็นความยิ่งใหญ่และ"ญืน"ยาวของชนชาติไทดั้งเดิมที่ตั้งรกรากบนแหลมทองนี้มานานนับพันปี

ไม่ใช่แค่ภาพของผู้หญิงโสภา

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนูน้อยหมวกแดง

เมื่อวันก่อน ผมได้ดูหนังเรื่อง Red Riding Hood โดยไม่ได้รู้มาก่อนว่าเป็นการนำนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงมาแปลงใหม่ ดูจบแล้วได้ข้อคิดอะไรอีกหลายข้อ และพอกลับมาเปิดดู Wikipedia คำว่า Little Red Riding Hood ก็พบเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย

เมื่อพูดถึงนิทานเรื่องนี้ เราหลายคนคงจำกันได้ว่าหนูน้อยหมวกแดงไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านในป่า แต่คุณยายโดนหมาป่ากินไปก่อน เมื่อหนูน้อยหมวกแดงตามไปก็โดนกินอีกคน จนกระทั่งมีนายพรานมาพบ และช่วยเหลือออกมาโดยใช้กรรไกรผ่าท้องหมาป่าช่วยยายหลานออกมา แล้วนำก้อนหินใส่เข้าไปแทน หมาป่าตื่นขึ้นมา ไปกินน้ำ แล้วก็ตกน้ำจมน้ำตาย จบ

ด้วยความเป็นนิทานเด็ก ตัวละครแต่ละตัวจะไม่มีความซับซ้อน หนูน้อยหมวกแดงก็คือความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา หมาป่าคือความชั่วร้าย และนายพรานคือผู้ช่วยเหลือ

ผมชอบการบิดเนื้อหาจากนิทานเด็ก จนกลายมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะสร้างความสลับซับซ้อนของจิตใจตัวละครได้เหมือนกับจิตใจปุถุชนที่มีโลภโกรธหลงในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่แค่มองมุมเดียวเหมือนในนิทาน

โดยการบิดเนื้อหาประการแรกคือเปลี่ยนจากหมาป่าธรรมดา (wolf) เป็นมนุษย์หมาป่า (werewolf) แค่นี้ก็จะมีอะไรตามมาอีกเยอะ เช่น พระจันทร์เต็มดวง คนกลายร่างเป็นหมาป่า คนโดนหมาป่ากัดแล้วกลายเป็นมนุษย์หมาป่า การฆ่ามนุษย์หมาป่าด้วยอาวุธที่ทำจากเงิน (กลายเป็นที่มาของสำนวน silver bullet ในภาษาอังกฤษ)ฯลฯ

บิดเนื้อหาประการที่สอง ก็คือเนื่องจากมนุษย์หมาป่าจะคืนร่างเป็นมนุษย์ได้ในตอนกลางวัน ดังนั้นคนในหมู่บ้านจึงไม่มีทางรู้ว่าใครกันแน่เป็นมนุษย์หมาป่าตนนั้น มุมสำคัญของเนื้อหาอยู่ตอนเกือบจบเมื่อสาวน้่อยหมวกแดงได้รู้ว่ามนุษย์หมาป่าตนนั้น แท้จริงแล้วคือพ่อของเธอเอง ซึ่งก็หวังดีกับเธอ จะมอบรอยกัดเพื่อสืบทอดความเป็นมนุษย์หมาป่าอย่างสมบูรณ์ให้เธอเพื่อกำลังที่กล้าแข็งขึ้นจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก แต่ท้ายที่สุด เธอไม่ยอมรับรอยกัดนั้น แต่กลับร่วมมือกับคนรัก ฆ่าพ่อของเธอตายด้วยอาวุธที่ทำจากเงิน

เหมือน ๆ ว่าหนังจะจบแค่นั้น เพราะอสูรร้้ายได้ถูกกำจัดแล้ว แต่สาวหมวกแดงกลับมารู้ภายหลังว่าคนรักของเธอก็ถูกพ่อของเธอกัดไปแล้วในระหว่างต่อสู้ แต่สาวหมวกแดงเลือกที่จะไม่ฆ่าคนรักของตน ในทางกลับกัน เธอเลือกที่จะอาศัยอยู่บ้านกลางป่าแทนย่าของเธอ และตอนจบเธอก็ส่งรอยยิ้มให้กับหมาป่าในคืนเดือนเพ็ญ เหมือนกับรู้ว่านั่นคือคนรักของเธอนั่นเอง

ผมคิดต่อไปเองว่า ต่อมาเธอก็คงมีลูกที่มีสายเลือดมนุษย์หมาป่าซึ่งจะแข็งแกร่งกว่ารุ่นพ่อเธอขึ้นไปอีก แล้วเรื่องก็จะเกิดวนเวียนต่อไป

ย้อนกลับไปมองสัญลักษณ์ของตัวละครในนิทาน ทำให้ผมมองเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หนูน้อยหมวกแดงในนิทานเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ แต่สาวหมวกแดงในหนัง เป็นความบริสุทธิ์ที่มาทราบภายหลังว่าตนเป็นสายเลือดของความชั่วร้ายที่น่าเกลียดชัง การที่เธอเลือกฆ่าพ่อของตน (ในขณะที่อยู่ในร่างมนุษย์ ไม่ใช่ในร่างหมาป่า) ดูง่าย ๆ เหมือนว่าธรรมะย่อมต้องพิฆาตอธรรม แต่มาลองคิดดูอีกที พ่อของเธอก็ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้าย กลับมีเจตนาดีที่จะเสริมพละกำลังและอำนาจให้กับเธอเท่านั้น และเป็นเจตนาดีที่แสดงออกทั้งในขณะที่เป็นมนุษย์และขณะเป็นหมาป่าด้วย

แต่เธอก็ฆ่าพ่อของเธอ... ตรงนี้ที่ทำให้ภาพลักษณ์ความบริสุทธิ์ของเธอต้องถูกมองเสียใหม่

หลังจากมนุษย์หมาป่าถูกฆ่าตายไปแล้ว เมื่อเธอพบว่าแฟนของเธอถูกกัด ถ้าเธอคือความบริสุทธิ์ที่มีเจตนาจะพิฆาตอธรรม เธอก็ควรจะกำจัดแฟนของเธอเองด้วย แต่เธอกลับไม่ทำ ถ้าจะมองว่าความบริสุทธิ์ในขณะนั้นคือความเมตตาไว้ชีวิต ก็รู้สึกว่าจะสายเกินไปแล้ว

เอาล่ะ อย่าตำหนิสาวหมวกแดงเลย... กลับมามองตัวเราดีกว่า หลายครั้งเรารู้สึกว่าเราได้จัดการกับปัญหาบางอย่างลุล่วงไปแล้ว หรือได้จัดการกับคนสร้างปัญหาไปแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ก็จะหมดไป จนเราอาจลืมมองไปว่า ปัญหาบางอย่าง พฤติกรรมที่ไม่ีดีบางอย่างยังคงอยู่รายล้อมตัวเรา หรือแม้กระทั่งอยู่ในตัวเราเอง แต่เราแค่มองมันไม่เห็น เช่นเดียวกับที่สาวหมวกแดงที่ต้องการกำจัดหมาป่า กลับไม่รู้ตัวว่ามีตัวเองก็มีสายเลือดหมาป่าเช่นกัน บางครั้งเราไล่ตามจับการทุจริตในองค์กร แต่ไล่ไปไล่มากลับพบว่าเราเองก็เคยทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงอย่างนั้นเหมือนกัน

แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อมีปัญหาเดิมเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง แต่คนที่เป็นปัญหานั้นเป็นคนที่เรารักชอบ แทนที่เราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเด็ดขาดเหมือนเดิม เรากลับใช้วิธีประนีประนอม เช่นเดียวกับที่สาวหมวกแดงไม่ยอมฆ่าแฟนของตน เข้าข่าย Double Standard

จิตใจคนเราก็เช่นเดียวกัน จะรักษามาตรฐานของคุณธรรม ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นให้อยู่ระดับเดิมไปตลอดเป็นเรื่องที่ยาก และแม้จะืทำได้ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะดีที่สุด เพราะคุณธรรมเป็นเรื่องที่ต้องปรับตามกาลเทศะ มากกว่าจะืทำให้คงที่ตายตัว

ภาษิตลาตินคำหนึ่งกล่าวไว้ว่า Summum jus, summa injuria การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดคือการทำร้ายอย่างทารุณ หรือ ความยุติธรรมสุดโต่งคือความอยุติธรรม

ดีชั่วตัดสินอย่างไร? เราเป็นคนดี แต่ไม่เต็ม 100% จะตัดสินคนอื่นได้หรือไม่? จะตัดสินอย่างไรให้ยุติธรรม? แท้จริงแล้วยุติธรรมคืออะไร?

นิทานหนูน้อยหมวกแดง ก็จบลงด้วยคำถามในใจ ต่าง ๆ นานา