วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ญ.หญิงโสภา

ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับ ญ.หญิง กับ ย.ยักษ์ในภาษาไทย เทียบกับ ย.ยุง และ ย.ยา ในภาษาลาว จากบล็อกของพี่ชาย http://thep.blogspot.com/2011/02/esaan-language-tidbits.html

อ่านแล้วก็อดต่อความเกี่ยวกับ ญ.หญิง ไม่ได้ อันที่จริงอยากจะเขียนเรื่อง "นิรุกติศาสตร์ของ ญ.หญิง" แต่ภูมิความรู้ยังไม่ถึง จึงขอเขียนแบบเท่าที่รู้ก่อน

ญ.หญิงที่ผมจะกล่าวถึงคือ ญ.หญิง พยัญชนะตัวที่ 10ในภาษาสันสกฤตคือ ज्ञ และภาษากรีก, ละติน, ฝรั่งเศส (ตระกูลอินโด-ยูโรเปียน) คือ gn

ถ้าเราเปิดดูพจนานุกรมไทยคำว่า "ญาณ" จะเขียนว่ามาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ชฺญาน แต่พอค้นดูในพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ก็พบว่าเขาเขียนว่า ज्ञान ถ้าถอดตัวอักษรออกมาก็เป็นคำว่า "ญาน" ซึ่งไม่ได้ควบช.ช้าง กับ ญ.หญิงแบบที่เขียนในพจนานุกรมไทย มีความหมายว่าความรู้ แต่วิธีการอ่านออกเสียงค่อนข้างยาก ใน wikipedia อ่านว่า Jñāna หรือ gñāna แต่คนทั่วไปนิยมเขียนว่า Gyan http://en.wikipedia.org/wiki/Gyan_(sanskrit)

แต่มีคนอินเดียเคยบอกว่าตัวอักษรนี้เลิกใช้ไปแล้ว เมื่อเปิดในพจนานุกรมภาษาฮินดี ก็ไม่มีคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรนี้แล้ว คงเหมือน ฃ.ฃวด กับ ฅ.ฅนของไทยที่เลิกใช้แล้ว แต่คนอินเดียทุกคนเป็นอันรู้กันว่าตัว ญ.นี้คือ ญ.ญาน ที่แปลว่านักปราชญ์ ผมก็เลยถามเขาต่อว่าอ่านออกเสียงอย่างไร สอบเสียงกันหลายรอบจนกระทั่งได้รู้ว่า อ่านออกเสียงว่า กฺญาน คือต้องอ่านออกเสียง ก.ไก่กับ ญ.หญิงให้เป็นเสียงเดียวกัน หรือลองนึกถึงคำว่า จักรยาน แต่อ่านออกเสียงแบบลาวว่า จักกะยาน โดย ย.ตัวนี้อ่านเป็นเสียง ญ.หญิง คือเป็นเสียงนาสิก (เสียงนาสิกคือถ้าบีบจมูกแล้วเสียงต้องเปลี่ยน ถ้าบีบจมูกแล้วอ่านคำว่า "ยาน" ได้เสียงเหมือนกับไม่บีบจมูกแสดงว่าออกเสียงผิด) อ่าน กะยาน หรือ กญาน เร็ว ๆ จนเกือบคล้ายคำว่า เกียน ลากเสียงยาว ๆนั่นแหละคือคำว่า Gyan ที่อ่านแบบอินเดีย

สรุปว่า ญ.หญิงในภาษาสันสกฤตมีความหมายในทางที่เกี่ยวกับความรู้ เกี่ยวกับนักปราชญ์ และเนื่องจากภาษาสันสกฤตกับภาษาละตินมีรากเหง้าเดียวกัน ก็น่าสงสัยว่าภาษาละตินคงจะมี ญ.หญิง อยู่เหมือนกัน

ญ.หญิงในภาษาละตินน่าจะเป็นตัวอักษร "gn" เช่นคำว่า gnosis ในภาษากรีกและละติน ที่แปลว่าความรู้ ซึ่งเป็นรากของคำในภาษาอังกฤษหลายคำเช่น diagnosis ("เรียนรู้แบบแยกส่วน" แปลว่าวินิจฉัย), prognosis ("รู้ก่อน" แปลว่าพยากรณ์) และคำที่คุ้นที่สุดก็คือคำว่า know ที่แปลว่ารู้นั่นเอง ทำไมคำนี้ต้องมีตัว k อยู่หน้าตัว n ก็เพราะเมื่อก่อนมันเคยเป็นตัวอักษรเดี่ยวตัวเดียวมาก่อน พอตัวอักษรนี้หายไป ก็เลยเอาตัวอักษรปัจจุบัน 2 ตัวไปใช้แทน เช่นเดียวกับ ch และ sh

แล้วเราจะอ่านออกเสียง gn นี้อย่างไร คำแรกที่ผมนึกถึงคือคำว่า cognac ที่สมัยเด็ก ๆ ผมเคยอ่านว่า "ค็อกแหน็ก" ต่อมาถึงรู้ว่าเขาเรียกว่า "คอนหยัก" และคนฝรั่งเศสอ่านว่า "คอญัค" ที่อ่านได้อย่างนี้ก็เพราะ gn เคยเป็นตัวอักษรเดี่ยวที่มีเสียง ญ. นั่นเอง นอกจากนี้เรายังพบเสียงแบบนี้ในคำว่า champagne แชมเปญ และ Cologne โคโลญ ส่วนคำว่า signal ที่อังกฤษอ่านว่า ซิกนัล นั้นฝรั่งเศสอ่านว่า สิญัล พอถึงเมืองไทยกลายเป็นคำว่าสัญญาณ ซึ่งคงรากของ ญ.หญิงไว้อย่างสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ ญ.หญิงในภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน จึงเป็นตัวอักษรที่ดูดีมีชาติตระกูล คือเป็นอักษรที่แสดงถึงความรู้ ปัญญา ญาณทัสนะ นักปราชญ์ หรือวิญญูชน

แต่พอมาถึงภาษาไทย-ลาวแล้วไม่เรียกว่า ญ.ญาณ แต่เราเรียก ญ.หญิง เพราะในภาษาไทยโบราณ หรือภาษาลาว ภาษาล้านนา เรียกผู้หญิง ว่าแม่ญีง ซึ่งบังเอิญเป็นเสียงนาสิกเหมือนกัน จึงต้องนำพยัญชนะตัวนี้มาใช้ในการออกเสียง จะใช้ ย.ยักษ์มาใช้ออกเสียงแทนไม่ได้ คำไทยอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ญ.หญิง เช่นคำว่า ใหญ่ หญ้า ญวน (ซึ่งเป็นคนละชนชาติกับยวนที่หมายถึงคนในอาณาจักรโยนก)

ที่ผมรู้สึกสงสัยคือเสียง ญ. นี้ไม่มีปรากฏในภาษาจีน หรือญี่ปุ่น ผมก็เลยตั้งทฤษฎีเอาเองว่าเสียง ญ.หญิงในภาษาไทย หรือ ย.ยุง ในภาษาลาวเป็นเสียงของภาษาดั้งเดิมของเราที่นี่ ไม่ได้ยืมมาจากภาษาอื่น หรืออื่นที่ว่าก็อาจจะแค่ขอม ไม่ได้ยืมมาจากอินเดียหรือจีนเหมือนคำส่วนใหญ่ในภาษาไทย ด้วยเหตุนี้เมื่อผมมองตัวอักษร ญ.หญิงผ่านแว่นตาของผม เลนส์ข้างซ้ายผมจะมองเห็นนักปราชญ์อินเดียและยุโรป ส่วนเลนส์ขวาผมจะมองเห็นความยิ่งใหญ่และ"ญืน"ยาวของชนชาติไทดั้งเดิมที่ตั้งรกรากบนแหลมทองนี้มานานนับพันปี

ไม่ใช่แค่ภาพของผู้หญิงโสภา

3 ความคิดเห็น:

Thep กล่าวว่า...

น่าสนใจมาก แต่อาจจะต้องจับคู่ gn กับ ชฺญ ไม่ใช่ ญ อย่างเดียว เพราะคำว่า ชฺญาน นั้น ภาษาสันสกฤตที่ยกมา อักษรขึ้นต้นก็เป็น conjunct ของ ชฺญ (ज + ् + ञ = ज्ञ) ไม่ใช่ ญ (ञ) เดี่ยว ๆ

เลยนึกไปถึงคำว่า "ปรัชญา" ด้วย

Thep กล่าวว่า...

เพิ่มเติม:

- ธาตุ "ชฺญา" ในสันสกฤติ เทียบเท่ากับธาตุ "ญา" ของบาลี แปลว่า "รู้" เช่น ปรัชญา ~ ปัญญา; วิชญะ/พิชญ์ ~ วิญญู; ปรีชญา ~ ปริญญา; ประติชญา ~ ปฏิญญา; สรรเพชญ ~ สัพพัญญู (แต่คำว่า "อาชญา" ไม่เกี่ยวกัน เป็นคำที่เท่ากับ "อาณา" ของบาลี)

- การเปรียบเทียบพยัญชนะซ้อน "ชฺญ" ของสันสกฤต หรือ "ญ" ของบาลี กับ "gn" ของกรีก-ละติน สามารถทำได้โดยใช้คำ "ชฺญา"/"ญา" กับ "gnosis" (γνῶσις) ของกรีกโบราณเป็นตัวอย่างอย่างที่ว่าไป ซึ่งน่าสนใจมาก ถ้ามีคำอื่นอีกจะน่าสนใจขึ้นไปอีก

- กลายเป็นว่า ตัวอย่างที่ยกมา เป็นการเทียบเคียงพยัญชนะซ้อน "ชฺญ" หรือ "ญ" กับ "gn" ไม่ใช่การเทียบเคียงพยัญชนะ "ญ" เดี่ยว ๆ

- น่าสนใจว่า ญ กับ ñ ของละติน มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อันนี้ข้าพเจ้าก็ไม่มีข้อมูล

Thep กล่าวว่า...

อีกนิด:

- เสียงนาสิกไม่ใช่ไม่มีในภาษาจีนเสียทีเดียว เพราะยังมีในภาษาแต้จิ๋ว โดยมีผลต่อความหมายของคำด้วย เช่น "อั้ว" ธรรมดา แปลว่า "ฉัน/ข้าพเจ้า" แต่ "อั้ว*" (นาสิก) แปลว่า "ชาม"; "เอี๊ย" = เจ้า/เจ้านาย แต่ "เอี๊ย*" = ชนะ; "สี่" = เลขสี่ แต่ "สี่*" = พัด; "อี๊" = น้าสาว แต่ "อี๊*" = ก้อนกลม เป็นต้น

- แต่เสียง ญ นาสิก นี่ นึกไม่ออกว่ามีหรือเปล่า