วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Forest Model กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ผมขอออกตัวก่อนว่าเรื่อง Forest Model นี้ไม่ใช่ความคิดของผมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการนำความคิดของผู้อื่นมาต่อยอดเท่านั้น


ผมอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง (น่าเสียดายที่จำชื่อหนังสือไม่ได้) บอกว่าการทำงานในองค์กรก็เหมือนกับต้นไม้ เรามีงานส่วนหนึ่งที่เป็นของเราเองไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ หนึ่งต้นก็มีหนึ่งลำต้น ของใครของมันไม่เกี่ยวกัน


กับงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งเราต้องประสานงานกับบุคคลอื่นโดยโครงสร้างองค์กร เปรียบเสมือนกิ่งก้านของต้นไม้ ซึ่งยื่นออกไปสอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียงกัน


ผมไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนั้น แต่ผมหยิบไอเดียนั้นมาคิดเทียบกับการทำงานจริง แล้วผมก็พบว่ามันอธิบายอะไรหลายอย่างได้ดีทีเดียว


คนบางคนที่ทำงานแบบต้นสัก คือสูงชลูด กิ่งก้านน้อย ไม่ค่อยสอดประสานกับคนอื่น ได้เนื้อไม้ชั้นดี หมกมุ่นเพื่อทำงานของตัวเองให้เป็นเลิศ


คนบางคนทำงานแบบเถาวัลย์ คือไม่ค่อยมีลำต้นของตนเอง หรือถ้ามีก็เป็นลำต้นที่อ่อนแอ ไม่สามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง แต่เก่งด้านสอดประสานกับคนอื่น สามารถแผ่ขยายตัวเองไปได้ไกล คนแบบนี้ชอบการเข้าสังคมมากกว่าการเพ่งทำงานของตัวเอง


คนบางคนเหมือนต้นหญ้า คือลำต้นก็ไม่มี สอดประสานได้กับแค่ต้นหญ้าที่อยู่ข้างเคียง เติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่


คนบางคนเหมือนต้นมะม่วง ลำต้นแข็งแรง กิ่งก้านแผ่ขยาย สอดประสานกับต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียง แถมยังออกผลให้เป็นอาหารกับคนอื่น ๆ อีก


ผมมองดูคนรอบข้างผมทีละคน ๆ แล้วก็คิดตามไปว่าคนคนนี้เหมือนต้นอะไร แล้วผมก็ได้พบอะไรแปลก ๆ ผมได้เจอคนบางคนที่สามารถสื่อสารข้ามไปอีกแผนกหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่งานของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอีกคนหนึ่งเลย มารู้ทีหลังว่าบางคนเป็นเพื่อนเรียนมาด้วยกัน บางคนเป็นญาติกัน


ตรงนี้แหละที่ model ต้นไม้อธิบายไม่ได้ ผมจึงคิดต่อยอดออกไป


ความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับต้นไม้ในรูปแบบที่เรามองไม่เห็น - ระบบรากไงล่ะ


ต้นไม้สองต้นสามารถสื่อสารกันได้ในรูปแบบที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจนกว่าเราจะขุดดินลงไปสำรวจระบบรากดู เหมือนคนสองคนที่ผังองค์กรไม่ได้บอกเลยว่าเขาเกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เมื่อขุดไปดูในประวัติของเขาแล้วจึงพบความเกี่ยวข้องกัน


ระบบกิ่งก้านที่สอดประสานกันเป็น formal relationship
ระบบรากที่สอดประสานกันเป็น informal relationship


ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารองค์กร โดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์


บางทีเราอาจคิดว่าต้องตักเตือนพนักงานคนหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผ่านหัวหน้าแผนก
แต่บางทีถ้าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง อาจฝากบอกญาติของเขาที่อยู่อีกแผนกหนึ่งว่าให้เขาระมัดระวังการกระทำให้มากกว่านี้ - มันดูนุ่มนวลกว่าและไม่ค่อยเป็นทางการ บางทีอาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการเรียกมาตักเตือนโดยตรงเสียอีก


ผมเรียก model ใหม่นี้ว่า Forest Model คือองค์กรเปรียบเสมือนป่าไม้ มีต้นไม้หลากหลายชนิด มีชนิดลำต้นแข็งแรงกับลำต้นอ่อนแอ มีสูงชลูดกับร่มใบแผ่กว้าง มีพวกเลื้อยเหมือนเถาวัลย์ มีต้นหญ้ากอเล็ก ๆ มีกาฝากเกาะบนต้นไม้ใหญ่ มีที่ออกดอกสีสวยกลิ่นหอม มีที่ออกผลเป็นอาหารให้กับชาวโลก และที่สำคัญคือพืชทุกชนิดมีระบบรากที่สื่อสารกันได้ (ถ้าใครได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ rhizosphere คือโลกของรากไม้จะทราบว่าพืชมีการสื่อสารผ่านระบบรากด้วยการหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมาจริง ๆ ไม่ใช่แค่การพูดเปรียบเปรย)


ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของป่าไม้ การจัดการองค์กรคือการจัดป่าไม้นี้ให้ร่มรื่น และสมดุล สวนป่าแห่งนี้ เราสามารถนำต้นไม้ใหม่มาปลูก ขุดต้นไม้บางต้นทิ้งไป ย้ายต้นไม้บางต้นไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ทั้งกลายเติบโต และทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่างให้เป็นสวนป่าที่ตรงกับ concept ขององค์กรของเรา


ลูกค้าคือคนหรือสัตว์ป่ที่เดินเข้ามาในป่าไม้ของเรา บ้างก็มาอาศัยร่มเงา (มาซื้อบริการ) บ้างก็มาเก็บผลไม้ไปรับประทาน (มาซื้อสินค้า) ถ้าเราจัดสวนป่าของเราได้ดี ลูกค้าก็จะกลับมาหาเราเป็นประจำ


สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจและวางใจเป็นกลางว่าป่าไม้ต้องมีพืชหลากหลายชนิด แต่ละชีวิตต่างก็มีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง จะให้มีแต่ต้นมะม่วงอย่างเดียวก็เป็นสวนผลไม้ไม่ใช่ป่า


ในสายตาของผม diversity และ relationship จึงเป็นคีย์เวิร์ดของการจัดการองค์กรตาม Forest Model (คราวนี้คำว่า relationship ได้ครอบคลุมคำว่า participation แล้ว - ไม่พลาดอย่างคราวก่อน)


ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ป่าของผมมีไส้เดือนเยอะ ๆ เพื่อช่วยพรวนดินทำให้ระบบรากเจริญเติบโต และไม่อยากมีไส้เดือนฝอยที่คอยกัดกินรากพืช


ขอจบด้วยรูปไทรงาม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สวนป่าที่รากกลายเป็นต้น ต้นกลายเป็นราก สืบต่อกันมากว่า 350 ปี นี่แหละองค์กรที่ไม่มีวันตาย

ไม่มีความคิดเห็น: